คปภ.จี้ประกันจ่ายแล้ว 7 ทายาทคนตายที่อุบลฯ
คปภ.ประสานบริษัทกลางฯ เคลียร์แทนบริษัทประกันภัย จ่ายสินไหมทดแทนแก่ 7 ทายาทผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่อุบลฯแล้ว เผยหากมีพบการทำประกันภัยอื่นๆ จะตามมาจ่ายเพิ่มเติม
ก่อนหน้านี้ “เลขาธิการ คปภ.” ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งตรวจสอบข้อมูลประกันภัยและประสานบริษัทประกันภัยให้เข้าไปเยียวยาและจ่ายสินทดแทนกรณีรถตู้ชนรถบรรทุก จนมีผู้เสียชีวิต 7 ศพที่ จ.อุบลราชธานี
ล่าสุด เลขาธิการ คปภ. ระบุว่า แม้ บมจ.ไทยศรีประกันภัยจะไม่มีสาขาที่ จ.อุบลฯ แต่ได้ประสานงายให้บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในส่วนของการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) แทนแล้ว โดยนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผจว.อุบลฯ ร่วมเป็นประธานการมอบเงินค่าสินไหมทดแทนรวม 1,835,000.- บาท ประกอบด้วย
นายสมัย มุงคุณพรม บุตรของนางทองใบ มุงคุณพรม, น.ส. สุภาพร แก้วเขียว บุตรของนางบุญเรียน แก้วเขียว, นางบุญมี โพธิจักร บุตรของนางเพียง โชติสนธิ์, นางคำปุ่น พรมพา มารดาของนายอรุณ พรมพา, น.ส.ปราณี สุวรรณจู บุตรของพระสมร สุวรรณจู, นางจันที สายแวว ทายาทของพระสม สายแวว และ ชุติมาพร พานแก้ว พี่สาวของนายสำราญ พานแก้ว โดยทายาททุกคนได้รับเงินคนละ 300,000 บาท
ส่วนค่าสินไหมทดแทนรายนายสำราญ พานแก้ว ซึ่งเป็นผู้ขับขี่รถตู้ ได้รับเฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้น เนื่องจากต้องรอผลคดีจากพนักงานสอบสวนก่อนว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาท หากพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้เป็นความประมาทของผู้ขับขี่รถตู้ แต่เป็นความประมาทของผู้ขับขี่รถบรรทุก ทายาทจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) เพิ่มอีกจำนวน 265,000.- บาท และ ทายาทของผู้เสียชีวิตทั้ง 7 ราย จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากการประกันภัยภาคสมัครใจอีกไม่เกินรายละ 300,000 บาท อีกทั้งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามจ่ายจริงอีกไม่เกินรายละ 300,000 บาท นอกจากนี้ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบอุบัติเหตุมีการทำประกันภัยประเภทอื่นๆ เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิต กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุประเภทอื่นๆ ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้อีกด้วย
“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่ง และขอเป็นกำลังใจให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุดังกล่าว ทั้งนี้ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาและทุกสถานที่ จึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย และขอฝากเตือนประชาชน ควรใช้รถใช้ถนนด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะเส้นทางการจราจรที่ไม่คุ้นเคย เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งเตรียมสภาพร่างกายให้มีความพร้อมในระหว่างการใช้รถใช้ถนนและหมั่นตรวจสอบสภาพรถยนต์อย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนตรวจวันหมดอายุกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งควรทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและประกันชีวิตอื่นๆ ด้วย เพื่อที่ระบบประกันภัย จะได้เข้าไปช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัยสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ.ย้ำ.