คลังอัดฉีด 4 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ครม.รับลูก ก.คลัง เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ผ่าน 4 มาตรการ “ชิมช้อปใช้เฟส 2 – ลดภาระให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย – สินเชื่อซื้อบ้านใหม่ – เร่งเบิกจ่ายงบอบรมสัมมนา” เผยเม็ดเงินฉีดใส่ระบบแค่ 5,800 บาท อาจไม่หนุนจีดีพีปี 62 โตถึง 3% สรรพากรย้ำ ผู้ประกอบการร่วม “ชิมช้อปใช้” ถูกจัดชั้นเป็นลูกค้าเกรด A ไม่ถูกตรวจสอบภาษี แถมได้รับเงินคืนเร็วขึ้นอีก
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง แถลงข่าวภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 62 ระยะที่ 2 ว่า เป็นความต่อเนื่องในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจต่อจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนจนประสบความสำเร็จด้วยดี ขณะที่ประเทศไทยยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยงทั้งในและนอกประเทศ ดังนั้น จึงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 62 ระยะที่ 2 ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้
1.มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” โดยออก “เฟส 2” เน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการเดินทางและใช้จ่าย เพื่อกระจายการใช้จ่ายไปยังเศรษฐกิจฐานราก ให้ชุมชนได้รับประโยชน์มากขึ้น ด้วยการปรับปรุงเงื่อนไขเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน อีก 3 ล้านคน ซึ่งนอกจากจะได้เงินสนับสนุน 1,000 บาท ในกระเป๋า 1 แล้ว ในส่วนกระเป๋า 2 ยังสร้างแรงจูงใจเพิ่ม ผ่านการ Cash Back โดย 30,000 บาทแรก ได้รับเงินคืน 15% และส่วนที่เกินจนถึง 50,000 บาท จะได้รังเงินคืนอีก 20% รวมกัน 8,500 บาท ซึ่งสิทธิ์นี้จะขยายให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ 10 ล้านคนแรกที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์ด้วย
ด้านนายผยง ศรีวณิช กก.ผจก.ใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวเสริมว่า ธนาคารฯจะเน้นประชาสัมพันธ์เรื่องการใช้จ่ายผ่านกระเป๋า 2 ซึ่งประชาชนสามารถเติมเงินได้ง่ายและสะดวก โดยนอกจากจะเติมเงินผ่านการสแกน QR Code ของทุกธนาคาร หรือกรอกตัวเลข g-Wallet 15 หลักผ่าน mobile banking ของธนาคารต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถเติมเงินเข้า g-Wallet 2 ผ่านเครื่อง ATM ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังจะปรับเวลาเริ่มลงทะเบียนใหม่ โดยแบ่งเป็น 2 รอบ รอบละ 500,000 ราย รอบแรกเริ่มลงทะเบียนเวลา 6.00 น. และรอบที่ 2 เริ่มลงทะเบียนเวลา 18.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้สนใจลงทะเบียน ซึ่งจะเริ่มเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.62 วันละไม่เกิน 1 ล้านคนโดยสามารถใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธ.ค.62 และร้านค้าสามารถสมัครเข้าร่วมมาตรการได้ถึง 31 ธ.ค.62 เช่นกัน
2.มาตรการลดภาระให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เหมาะสมกับศักยภาพของประชาชนแต่ละกลุ่ม โดยรัฐบาลจะลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนอง คือ การลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01 และการลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01
ทั้งนี้ เฉพาะการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย
และการจดทะเบียนการโอน และการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน โดยมีระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 24 ธ.ค.63
3.มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดย ธอส.จะสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย โดยการให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ราคาพิเศษและเงื่อนไขผ่อนปรน สำหรับมาตรการสินเชื่อดังกล่าวจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค.62 ถึง 24 ธ.ค.63 โดยมีวงเงินสินเชื่อทั้งหมด 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ ร้อยละ 2.5 ในช่วง 3 ปีแรก และร้อยละ 4.625 ในปีที่ 4-5
โดยทั้งมาตรการลดภาระฯ และมาตรการสินเชื่อฯ มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง กลุ่มคนเริ่มทำงานใหม่ที่กำลังก่อร่างสร้างตัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อ เพื่อให้บุตรหลานหรือทายาท โดยต้องเป็นการซื้ออยู่อาศัยประเภท บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ (เพื่อการอยู่อาศัย) และห้องชุด ทั้งนี้ ต้องเป็นที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมอยู่ ซึ่งไม่เคยผ่านการครอบครองโดยบุคคลอื่นมาก่อน ส่วนการกำหนดราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วยนั้น เนื่องจากเป็นระดับราคาที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมอยู่ ณ เดือน ต.ค.62 ที่ระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีอยู่ประมาณ 34,731 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 57 ของที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จทั้งหมด และคาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในปี 2563 อีกประมาณ 145,269 หน่วย จึงมีที่อยู่อาศัยรวมกว่า 180,000 หน่วย ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าของได้
“คาดว่าทั้ง 2 มาตรการ จะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้เติบโต ก่อให้เกิดการขยายตัวของ supply chain ภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจพัฒนาการคมนาคม
เป็นต้น นอกจากนี้ เพื่อให้ ธอส. ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นผู้นำตลาดในการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตาม ดังนั้น คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยเหลือให้ผู้บริโภคหรือประชาชนให้ได้รับประโยชน์และสามารถเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น” รมว.คลังย้ำและว่า
เหตุที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังไม่มีนโยบายกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะกำลังเฝ้าจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่าควรจะมีมาตรการกระตุ้นและช่วยเหลืออย่างไร กระทั่ง ถึงตอนนี้ คิดว่ามาตรการที่มีจะช่วยเหลือทั้งกลุ่มผู้ที่ต้องการมีบ้านเป็นของตนเอง และผู้ประกอบการในกลุ่มวัสดุก่อสร้างและภาคแรงงานอีกด้วย
ขณะที่ นายฉัตรชัย ศิริไล กก.ผจก. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวเสริมว่า มาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารฯ นับเป็นนโยบายที่รัฐบาลที่ต้องการสร้างโอกาสทำให้คนไทยมีบ้านเป็นจริง เพราะกำหนดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกเพียง 2.50% นับเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดในตลาด และยังช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยในช่วง 3 ปีแรก เช่น กรณีกู้ 1 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 3 ปีแรก จะผ่อนชำระเริ่มต้นเพียง 3,300 บาทต่องวดเท่านั้น หากเทียบกับเงินงวดผ่อนชำระของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อปกติในช่วง 3 ปีแรก วงเงินกู้ 1 ล้านบาท ผู้กู้จะสามารถประหยัดเงินงวดได้จำนวน 80,400 บาท หรือหากเทียบกับการผ่อนชำระอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อปกติในช่วง 5 ปีแรก ผู้กู้สามารถประหยัดเงินงวดได้ถึง 123,600 บาท นอกจากนี้ยังได้รับการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อที่อยู่อาศัยตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งให้ลดค่าธรรมเนียม จดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์จาก 2 % เหลือ 0.01 % และลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจำนองจาก 1 % เหลือ 0.01 % อีกด้วย
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อยื่นคำขอกู้และทำนิติกรรมได้ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ติดต่อขอรับคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่สินเชื่อหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์
ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ (Call Center) โทร 0-2645-9000 หรือ www.ghbank.co.th และ Facebook Fanpage ธนาคารอาคารสงเคราะห์
สำหรับมาตรการสุดท้ายนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า เป็นมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ 62 ไปพลางก่อน (Front Load) เพื่อให้มีเม็ดเงินสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ 2562 ไปพลางก่อนลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยรับงบประมาณเร่งรัดเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ 62 ไปพลางก่อน สำหรับวงเงินนั้น ได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ
โดยกระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 62 ระยะที่ 2 จะช่วยให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่การใช้จ่ายระดับฐานรากจนไปถึงระดับประเทศ ตลอดจนการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่อยู่อาศัย และการลดภาระค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดทะเบียนจำนองที่อยู่อาศัย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่มีรายได้น้อยและปานกลางที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่าย เป็นการช่วยบรรเทาภาระให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ การเร่งรัดการเบิกจ่ายของภาครัฐจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ช่วยลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและกระตุ้นเศรษกิจให้ฟื้นตัวเร็วยิ่งขึ้น
ส่วนที่หลายกังวลใจ กรณีร้านค้าไม่รับจากซื้อสินค้าในกระเป๋า 2 นั้น นายอุตตม กล่าวว่า เป็นเพราะคงกังวลใจเกี่ยวกับการถูกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ซึ่งไม่มีแน่นอน อย่างไรก็ตาม ทางการคงไม่สามารถจะไปเอาผิดกับร้านค้าเหล่านั้นได้ แต่จะต้องเร่งประชสัมพันธ์ทำความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้น
ด้านนายเกรียงศักดิ์ ประสงค์สุกาญจน์ รองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเสริมว่า กรมฯจะไม่ใช้ฐานข้อมูลข้างต้นเพื่อนำมาตรวจสอบภาษี ทั้งนี้ ร้านค้าที่อยู่ในกลุ่มการรับชำระเงินผ่านระบบ e Payments ในมาตรการ “ชิมช้อปใช้” กรมฯจะถือเป็นลูกค้าชั้นดีที่จะถูกตรวจสอบน้อยกว่าปกติ
“กรมสรรพากรสนับสนุนนโยบายเรื่อง Digital Economy ดังนั้น จึงไม่มีนโยบายมุ่งตรวจสอบกลุ่มผู้ใช้ e-Payment อยู่แล้ว ในทางตรงกันข้าม กรมสรรพากรเห็นว่า ผู้ใช้ e-Payment จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการที่ดีซึ่งจะไม่ถูกตรวจสอบและได้รับบริการที่ดี เช่น การคืนภาษีเร็ว จากกรมสรรพากรด้วย”
นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวสรุปถึงความสำเร็จของมาตรการ “ชิมช้อปใช้” เฟส 1 ว่า มี 4 จุดที่สำคัญ คือ 1.การเพิ่มสิทธิประโยชน์ในกระเป๋า 2 เพิ่มขึ้นเป็น 20% 2.การเติมเงินในกระเป๋า 2 ทำได้ง่ายขึ้น 3.มีการเปิดกว้างรับร้านค้าเข้าร่วมมาตรการฯกว้างขึ้น และ 4.ร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการฯไม่ต้องถูกตรวจสอบภาษีจากกรมสรรพากร
ทั้งนี้ จำนวนร้านค้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผอ.ธนาคารออมสิน และนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผจก.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวยืนยันตรงกันว่า จะดึงร้านค้าที่มีเกี่ยวข้องกับธนาคารทั้ง 2 แห่งมาเข้าร่วมโครงการฯ โดยในส่วนธนาคารออมสินมีร้านค้าในกลุ่มฐานรากมากกว่า 200,000 ร้านค้า ขณะที่ ธ.ก.ส.มีที่พร้อมรับการชำระผ่านระบบ e Payments กว่า 100,000 แห่งเช่นกัน โดยมีร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการฯแล้วกว่า 6,000 ร้านค้า
ผู้สื่อข่าวรายงานสรุปถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 62 ระยะที่ 2 ครั้งนี้ว่า นอกจากเงินที่จะใช้ผ่านมาตรการ “ชิมช้อปใช้” เฟส 2 จำนวน 2,000 ล้านบาท เนื่องจากมีผู้รับสิทธิ์วงเงิน 1,000 บาทในเฟส 1 แต่ถูกยึดคืนสิทธิ์ เพราะไม่ใช้จ่ายในกรอบเวลากำหนด 14 วัน รวมกันราว 1 ล้านคน ซึ่งเงินจำนวน 1,000 ล้านบาทจากเฟส 1 นี้ จะถูกยกไปรวมกับเฟส 2 ในส่วนของมาตรการที่ 2 (มาตรการลดภาระฯ) และมาตรการที่ 3 (มาตรการสินเชื่อฯ) ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยและธอส.นั้น คิดเป็นเม็ดเงินรวมกันราว 3,800 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลใช้เม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 62 ระยะที่ 2 รวมกันเพียง 5,800 ล้านบาท ต่ำกว่าที่หลายฝ่าย โดยเฉพาะนักวิชาการที่คาดหวังจะเห็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบระบบในช่วง 2-3 เดือนที่เหลือของปี 62 ไม่ต่ำกว่า 30,000-50,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันให้จีดีพีของไทยในปี 62 เติบโตในระดับ 3% ทั้งนี้ รมว.คลัง ให้เหตุผลว่า เพราะรัฐบาลมีงบประมาณเหลือไม่มากนัก.