เปิดโมเดล ครม.ส่วนหน้าดับไฟใต้
ในที่สุด “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ได้ฤกษ์ตวัดปลายปากกาเซ็นต์แต่งตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้” (กปต.) หรือ “รัฐบาลส่วนหน้า”
สืบเนื่องมาจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่57/2559 เรื่องการปรับปรุงการบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เปิดช่องให้คณะกรรมการกปต.ทำหน้าที่บูรณาการทำงานร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสื่อสารโดยตรงกับนายกรัฐมนตรี เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน ในการแก้ไขปัญหาที่ล่าช้า
โดยผู้แทนพิเศษของรัฐบาลมี 13 คน ที่เป็นครม.ส่วนหน้า ประกอบด้วย 1. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้า 2. พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองหัวหน้า 3. พล.อ.จำลอง คุณสงค์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4
4. พล.อ.ปราการ ชลยุทธ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 5. พล.อ.มณี จันทร์ทิพย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 6. พล.อ.สกล ชื่นตระกูล อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 7. พล.อ.อักษรา เกิดผล อดีตเสนาธิการทหารบก 8. พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 9. พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
10. พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ อดีตผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ 11. นายพรชาต บุนนาค อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ 12. นายจำนัล เหมือนดำ อดีตรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ13. นายภาณุ อุทัยรัตน์ อดีตเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นเลขาธิการ ครม. ส่วนหน้า
บิ๊กตู่ ยืนยันว่า ครม.ส่วนหน้าจะไม่ทำงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานเดิมที่มีอยู่แล้วแน่นอน โดยสิ่งแรกที่จะลงมือทำคือ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชายแดนภาคใต้ที่มีอยู่แล้ว 9 ข้อ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ ความมั่นคง ความปลอดภัยให้สามารถทำงานร่วมกันได้ เพราะเดิมมันแบ่งการทำงานอยู่ ซึ่งจะต้องแก้ทั้งระบบ โดยให้ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลนี้ช่วยกลั่นกรอง ดีกว่าที่จะส่งเรื่องขึ้นมาทีเดียว
แน่นอนว่า ชื่อของ “หัวหน้าทีม” อย่าง “บิ๊กโด่ง” พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ถือเป็นคนที่ “สองพี่ใหญ่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. และพล.อ.ประวิตร วงษ์ สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ไว้ใจและหมายมั่น ปั้นมือมอบหมายให้คุมงานใหญ่ครั้งนี้
พลเอกอุดมเดช กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าคณะทำงานทั้ง 13 คน จะสามารถปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี รวมถึงเป็นบุคคลที่ผู้ใหญ่ให้ความเห็นชอบด้วย จึงเชื่อว่าไม่มีปัญหาใดๆแม้ว่าทุกคนจะเป็นทหาร แต่ก็เคยผ่านการทำงานในหน่วยงานต่างๆมาแล้ว โดยตนจะพยายามทำหน้าที่ในครั้งนี้ให้ดีที่สุด แม้จะมีความกังวลอยู่บ้างเนื่องจากมีหลายฝ่ายคาดหวัง ส่วนที่ตั้งของสำนักงานขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา
ทั้งนี้โมเดล“รัฐบาลส่วนหน้า” ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เคยทำมาแล้ว ไล่มาตั้งแต่สมัย “ทักษิณ ชินวัตร” สมัย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” มาจนถึงสมัย “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรีแต่กลับไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
ดังนั้นการตั้งครม.ส่วนหน้าครั้งนี้ เป็นความท้าทายของรัฐบาลคสช. ที่หลายฝ่ายคงไม่อยากเห็นความล้มเหลวเหมือนที่ผ่านมา
เพราะดูจากสถิตคาร์บอมบ์ในพื้นที่และนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงเดือนส.ค.2559 พบว่าในจังหวัดที่มีเหตุการณ์มากที่สุด คือ นราธิวาส 23 ครั้ง ยะลา12 ครั้ง ปัตตานี 11 ครั้ง สงขลา 3 ครั้ง และสุราษฎร์ธานี 1 ครั้ง (เกาะสมุย)
ขณะที่เหตุคาร์บอมบ์ในพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนใต้ จากสถิติของหน่วยทำลายวัตถุระเบิด หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย พบว่าตั้งแต่เดือนม.ค.47 จนถึงเดือน ก.ค.59 เกิดระเบิดขึ้นทั้งหมด 3,708 ครั้ง ขณะที่ในปี 2559 ตั้งแต่เดือนม.ค. ถึงเดือน ก.ค. เกิดระเบิดแล้ว 164 ครั้ง
ดังนั้นจึงน่าสนใจการฟื้นตั้ง “ครม.ส่วนหน้า” เป็นเหมือนหนังม้วนเดิมที้เปลี่ยนนักแสดงใหม่ จะสามารถเป็นหน่วยงานหลักเข้ามาทำหน้าที่แก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้หรือไม่และจะมีผลสัมฤทธิ์อย่างไร.