กรมศุลฯ หวั่นวิกฤติปี 63 กระทบเป้าภาษี
กรมศุลกากร หวั่น “การค้าโลก-ส่งออก-บาทแข็ง-เขตการค้าเสรี” กระทบจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2563 หลังรับ “โจทย์หิน” เพิ่มจัดเก็บรายได้ทั้งปี 1.11 แสนล้านบาท ย้ำเมื่อรัฐบาลวางแผนงบรายจ่ายประจำปีแล้ว คงต้องเดินหน้าต่อไป หันเน้นเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บและปิดรูรั่วภาษีไหล
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวถึงการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2563 ว่า กรมฯได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดเก็บรายได้ทั้งปีประมาณ ในส่วนของกรมศุลกากร 111,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 11,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ส่งผลกระทบโดยตรงถึงภาคการส่งออก ประกอบกับการที่เงินบาทแข็งค่า ทำให้การจัดเก็บรายได้ภาษี จากการที่ผู้นำเข้าเปลี่ยนเงินจากสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็นเงินบาท และได้มูลค่าที่เป็นเงินบาทเพื่อจัดเก็บภาษีที่น้อยลง รวมถึงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า “เขตการค้าเสรี” (FTA) ที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้า และ FTA ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา เหล่านี้ ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อการจัดเก็บรายได้ในปี 2563 ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม กรมฯคงต้องดำเนินการจัดเก็บรายได้ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังและรัฐบาลไปก่อน โดยจะทำการประเมินสถานการณ์การจัดเก็บรายได้เป็นระยะๆ ทั้งนี้ แม้กรมฯจะสามารถขอปรับลดประมาณการจัดเก็บรายได้ลงได้บ้าง แต่เนื่องจากรัฐบาลได้จัดทำงบประมาณรายจ่ายไปแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมการประชุมพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในสภาผู้แทนราษฎร ภายในสัปดาห์หน้า จึงน่ากรมฯจะไปเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ควบคู่กับการปิดช่องโหว่ที่อาจทำให้เกิดการรั่วไหลในการจัดเก็บภาษี แทนการขอปรับลดประมาณการจัดเก็บรายได้ต่อไป ส่วนการจัดเก็บรายได้ภาษีแทนที่หน่วยงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กระทรวงมหาดไทยและอื่นๆ นั้น ปกติจะไม่มีการตั้งประมาณการจัดเก็บรายได้ในส่วนนี้แต่อย่างใด
“รายได้หลักๆ ของกรมศุลกากรในปีงบประมาณหน้า เชื่อว่าจะยังคงเป็น 5 อันดับกลุ่มสินค้าที่สร้างรายได้ เช่นเดิม คือ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล, ส่วนประกอบรถยนต์, ยารักษาโรค, เครื่องสำอาง และรถยนต์โดยสาร โดยเฉพาะในส่วนรถยนต์นั่งนั้น กรมฯจัดเก็บภาษีได้เฉพาะรถยนต์ที่นำเข้าจากภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตความร่วมมืออาเซียน รวมถึงความร่วมมือในระดับ FTA กับประเทศอื่นๆ นอกภูมิภาคอาเซียน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat 7%) ภาษีสรรพสามิต และภาษีอื่นๆ นั้น กรมฯยังคงจัดเก็บรายได้แทนหน่วยงานเหล่านั้น แม้จะเป็นสินค้าในกลุ่มอาเซียนและอยู่ในความร่วมมือ FTA ก็ตาม” โฆษกกรมศุลกากร ระบุ
สำหรับการจัดเก็บรายได้กรมศุลกากร ในปีงบประมาณ 2562 นั้น พบว่า ในส่วนของกรมศุลกากรเอง สามารถจัดเก็บรายได้ 108,523 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 100,000 ล้านบาท ถึง 8,523 ล้านบาท หรือ 8.5% และสูงกว่าคาดการณ์ 108,000 ล้านบาท ถึง 523 ล้านบาท หรือ 0.5% ทั้งนี้ การจัดเก็บอากรขาเข้ายังคงขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.2% แม้สถานการณ์การค้าโลกยังคงมีความเสี่ยงสูงและค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น
ส่วนการจัดเก็บรายได้แทนหน่วยงานอื่น กรมศุลกากรจัดเก็บได้จำนวน 479,935 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7,330 ล้านบาท หรือ 1.6% โดยจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 326,114 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,088 ล้านบาท หรือ 1.0% และจัดเก็บภาษีสรรพสามิตได้ 106,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,531 ล้านบาท หรือ 3.4%.