ออมสินตั้งหน่วยงานใหม่อุ้มหนี้นอกระบบ
ธนาคารออมสิน แตกไลน์ใหม่ตั้งหน่วยงานพิเศษดูแลหนี้นอกระบบ ตาคำสั่ง “สมคิด” หลังพบข้อมูล GSI ชี้ประชาชนฐานรากต้องการเงินกู้ฉุกเฉินเพื่อประทั่งชีวิต
“ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก” หรือ GSI ที่ธนาคารออมสินสำรวจ 2 เดือนติดต่อกัน (เม.ย.และพ.ค.) พบว่าประชาชนฐานรากมีความต้องการกู้เงินกรณีฉุกเฉิน แต่ยังไม่มีธนาคารรายใดรองรับความต้องการดังกล่าว ทำให้ธนาคารออมสินในฐานะที่เป็นธนาคารประชาชน จึงเสนอแนวทางเพื่อช่วยเหลือประชาชนเหล่านี้ นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา
แผนการศึกษาช่วยเหลือประชาชนที่กู้เงินนอกระบบของธนาคารออมสินได้ทำเสร็จแล้ว และได้เสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา ซึ่งคาดว่าในเร็วๆนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอแนวทางในการแก้ไขหนี้สินของภาคประชาชนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
สำหรับสินเชื่อใหม่ที่ธนาคารออมสินเสนอให้พิจารณาจะมี 2 รูปแบบคือ 1.ลดภาระดอกเบี้ยกรณีลูกเก่าและลูกค้าใหม่ และ2.การปล่อยกู้ฉุกเฉินวงเงินไม่เกินรายละ 30,000-50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 1% ต่อเดือน หรือไม่เกิน 20% ต่อปี เหมือนกับโครงการธนาคารประชาชน แต่เงื่อนไขจะผ่อนปรนมากกว่า โดยผู้กู้สามารถนำสินเชื่อดังกล่าวไปใช้ในการอุปโภคและบริโภคได้ หรือในกรณีที่เจ็บป่วย และค่าเทอมบุตรได้ โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
“ดัชนี GSI ซึ่งเป็นผลสำรวจประชาชนมากกว่า 1,500 คน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประชาชนที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 15,000 ล้าน บาท ซึ่งถือเป็นฐานรากของระบบเศรษฐกิจ สอดคล้องกับนโยบายรัฐที่ต้องการดูแลประชาชนกลุ่มนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้เงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยมหาโหด” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวและกล่าวว่า
ทันทีที่ ครม.อนุมัติ ธนาคารออมสินก็พร้อมที่จะดำเนินการทันที เพราะหากสามารถแก้ไขหนี้ได้ นอกจากผู้ที่กู้เงินนอกระบบจะมีภาระหนี้ลดลงแล้วตัวของผู้กู้เองและ ครอบครัวก็จะมีเงินเหลือเอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แม้เราจะมีความเสี่ยงในการปล่อยกู้เพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่ความเสี่ยงดังกล่าว หากมีจำนวนไม่มากธนาคารก็พร้อมที่จะรับหนี้เอาไว้เอง แต่หากมีปริมาณมากกระทรวงการคลังก็จะชดเชย โดยในแง่ของการปฏิบัติงานแล้ว ธนาคารออมสิจะตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาดูแลลูกหนี้นอกระบบเหล่านี้ เป็นกรณีพิเศษ
นายชาติชาย กล่าวอย่างมั่นใจว่าที่ผ่านมา อัตราการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในกลุ่มลูกค้ารายย่อย มีเพียง 2-3% ของยอดสินค้าคงค้าง เพราะธนาคารจะไม่ปล่อยกู้ให้แก่คนที่ไม่มีหลักแหล่ง โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญคือ 1.ต้องมีความสามารถในการชำระหนี้ และ2.ต้องมีสถานที่หรือแหล่งที่ประกอบอาชีพที่ชัดเจน ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้ จะครอบ คลุมถึงแม่ค้าหาบเร่ แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือคนขับรถโดยสารสาธารณะ
ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนที่ใช้บริการเงินกู้นอกระบบอยู่ประมาณ 1.2-1.3 ล้านราย ในจำนวนนี้คาดว่า จะมีการเข้าขอกู้เงินจากธนาคารออมสินประมาณ 100,000-200,000 ราย โดยจะปล่อยกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท ภายในวงเงินไม่เกิน 5,000 ล้านบาท
ส่วนเรื่องการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นกรณีพิเศษนั้น ธนาคารออมสินจะดำเนินการทั้งลูกค้ารายเก่าและลูกค้ารายใหม่ โดยลูกค้ารายเก่าจะมีการพักชำระหนี้ เพื่อลดภาระหนี้เป็นระยะเวลา 2-3 ปี หรือเลือกที่จะลดอัตราดอกเบี้ยก็ได้ ส่วนลูกค้ารายใหม่นั้น จะมีการออกผลิตภัณฑ์ที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำในช่วงระยะเวลาหนึ่งประมาณ 2-3 ปีเช่นกัน
สำหรับ“ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก” (GSI : Grassroots Economic Sentiment Index) ประจำเดือนพ.ค.2559 โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,530 คน ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน พบว่า GSI ในเดือนพ.ค.อยู่ที่ระดับ 43.6 ลดลงจากเดือนเม.ย.ที่อยู่ระดับ 44.9 แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยในระดับฐานรากยังคงฟื้นตัวค่อนข้างช้า แม้ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก ที่ประกาศโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะระบุว่า ขยายตัวถึง 3.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มสูงสุดในรอบ 3 ปีก็ตาม แต่ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
โดยเฉพาะราคายางพาราและ ข้าว ยังคงมีแรงกดดันต่อการใช้จ่ายของประชาชนระดับฐานราก โดยพิจารณาได้จากดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากต่อสถานการณ์ในอนาคตปรับตัวลดลงจากระดับ 46.2 ในเดือนเม.ย. มาอยู่ที่ระดับ 44.2 ในเดือนพ.ค.59
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ ยังได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนฐานรากเกี่ยวกับปัญหาหนี้นอกระบบในภาวะค่าครองชีพสูง โดยเมื่อสอบถามถึงปัญหาด้านรายได้และหนี้สินในปัจจุบัน พบว่า ปัญหาที่อยู่ในระดับมาก 3 อันดับแรกคือ 1.รายได้ไม่พอ กับภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน 45.4% 2.รายได้ไม่แน่นอน/ราคาผลผลิตการเกษตรไม่แน่นอน 40% และเงินที่หามาได้ส่วนใหญ่ต้องนำมาใช้หนี้ 28.9%
นายชาติชาย กล่าวว่า เมื่อสอบถามถึงรายได้และค่าใช้จ่ายในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาพบว่า 49.6% มีรายได้พอดีกับค่าใช้ จ่าย รองลงมา 35.6% มีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย และมีเพียง 14.8% ที่มีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ เมื่อสอบถามถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีที่มีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย ส่วนใหญ่จะทำการกู้ยืมนอกระบบ 41.4% รองลงมากู้ยืมในระบบ 25.8% และหารายได้เสริม 15.5%
“จากแบบสอบถามทั้งหมด จะสังเกตได้ว่า ประมาณ 3 ใน 4 จะใช้แนวทางในการแก้ปัญหาหนี้สินด้วยการกู้ยืมเงินผ่านแหล่งเงินต่างๆ ทั้งในระบบและนอกระบบ โดยวัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ ได้แก่ เพื่อการอุปโภคบริโภคสูงถึง 33% ชำระหนี้เดิม 22.7% และเช่า/ซื้อที่อยู่อาศัย 10.9% ซึ่งจากภาระหนี้สินดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต โดยมีการใช้จ่ายน้อยลง 45.2% ต้องหารายได้เพิ่มขึ้น 36.3% กู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น 16.4% และถูกติดตามทวงหนี้ 1.8% เป็นต้น”.