ดัชนีผลผลิตอุตฯ เดือน ส.ค.หดตัว 4.4%
สศอ. เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ส.ค.หดตัว 4.4% จากผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อเนื่อง
นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ส.ค.62 อยู่ที่ระดับ 100.58 หดตัว 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนส.ค.62 อยู่ที่ 65.75%
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนส.ค. ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และน้ำตาล สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง และคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) หดตัวลง 9.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนอุตสาหกรรมที่การผลิตยังขยายตัวดี ได้แก่ Hard disk drive ขยายตัว 12.66% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตบางรายได้รับคำสั่งผลิตเพิ่มขึ้น หลังจากปิดฐานการผลิตที่ประเทศมาเลเซียตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.62 รวมถึงการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการพัฒนา Hard disk ความจุสูงที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น
อาหารทะเลแช่แข็ง ขยายตัว 14.04% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ปลา กุ้ง และปลาหมึกแช่แข็ง ที่ได้รับคำสั่งซื้อจากตลาดในประเทศ และผู้ผลิตได้ขยายตลาดไปสู่ตลาดการค้าขายปลีกสมัยใหม่ และร้านอาหารขนาดใหญ่ รวมถึงเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายในตลาดออนไลน์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานมากขึ้น
น้ำดื่ม ขยายตัว 9.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นน้ำแร่ เนื่องจากในปีก่อนผู้ผลิตบางรายปิดซ่อมบำรุงใหญ่ ประกอบกับรัฐเตรียมขึ้นภาษีความหวานรอบที่ 2 ซึ่งจะบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.62 รวมถึงกระแสการดูแลสุขภาพของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น
สุรา ขยายตัว 25.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์สุราและสุราผสม เนื่องจากผู้ประกอบการได้ทำการตลาดโดยได้ปรับภาพลักษณ์ของสินค้าและออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งมีการตอบรับที่ดี ทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงการวางแผนขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกสุราผสมไปยังประเทศเวียดนาม เมียนมา ฟิลิปปินส์ และมีแผนจะขยายตลาดไปประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
น้ำมันปาล์ม ขยายตัว 9.89% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบที่สภาพภูมิอากาศส่งผลให้ต้นปาล์มออกดอกและติดผลเป็นจำนวนมาก เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลปาล์มที่มีความเข้มข้นของน้ำมันเพิ่มขึ้น ทำให้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้จำนวนมาก รวมถึงนโยบายภาครัฐที่ได้สนับสนุนให้มีการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วประเภท B7, B10, B20 และ B100 และการผลิตไฟฟ้า