ออมสินจ่อแซงขึ้นเบอร์ 1 ดิจิทัล แบงก์กิ้ง
แบงก์ออมสินฝันได้ไกล? หลังตัวเลขผู้ใช้บริการ “ดิจิทัล แบงก์กิ้ง” เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เผยเป้าหมายสิ้นปีนี้ 8.5 ล้านคนจะขยับแซงที่ 4 และเบียดที่ 3 ชนิดหายใจรดคอกันเลย ลั่นปี 63 ตัวเลขจะพุ่งทะยานถึง 13 ล้านคน แซง “เบอร์ 1” แบงก์รวงข้าวอย่างแน่นอน
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผอ.ธนาคารออมสิน กล่าวถึงแนวโน้มของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ อย่าง ธนาคารออมสิน ว่า จะเป็นต้องปรับตัวรองรับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เชื่อว่าจากนี้ บทบาทสาขาของธนาคารพาณิชย์จะเริ่มลดลง ดังจะเห็นข่าวการยุบเลิกสาขาธนาคารพาณิชย์ และการลดพนักงาน แต่กับธนาคารออมสินแล้ว เราไม่มีนโยบายดังกล่าว เพียงแต่จะปรับบทบาทของสาขาและพนักงานให้หันไปเน้นบริการด้านเทคโนโลยีทางการเงินให้มากยิ่งขึ้น
“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอังกฤษ คือ การรวมตัวกันของแบงก์พาณิชย์มากกว่า 10 แห่ง โดยใช้เทคโนโลยี และแอปพลิเคชั่น ตัวเดียวกันมาทำงานร่วมกัน (Bank Open API) ซึ่งไม่เพียงจะประหยัดต้นทุนดำเนินงาน หากยังมีความปลอดภัย และสามารถรองรับปริมาณการใช้งานของลูกค้าได้พร้อมกัน ในเวลาเดียวกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากสถิติพบว่ามีผู้ใช้ในกลุ่มนี้เฉลี่ยสูงถึง 100 ล้านครั้งต่อวันเลยทีเดียว” ผอ.ออมสิน ระบุ
ทั้งนี้ ธนาคารในรูปแบบใหม่นับจากนี้ไป จะเป็นธนาคารที่ไม่มีสาขา (Challenger Bank) เนื่องจากลูกค้าจะหันมาเน้นทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบอิเล็คทรอนิสก์มากขึ้น ทั้งส่วนของช่องทางและทรานเซ็คชั่น นอกจากนี้ มีตัวเลขที่สะท้อนภาพความเป็น Challenger Bank คือการที่ธนาคารพาณิชย์ใน 75 ประเทศทั่วโลก ต่างเปิดธุรกรรมการเงินที่เรียกว่า “ดิจิทัล แบงก์กิ้ง” รองรับการให้บริการลูกค้ากันแล้ว
นายชาติชายกล่าวว่า ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ในไทยเอง ต่างก็ปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็น ME ของธนาคารทหารไทย หรือ TMRW ของธนาคารยูโอบี แต่สำหรับธนาคารออมสินแล้ว ก็เดินหน้าในเรื่องนี้มาตลอดช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีลูกค้าของธนาคารกสิกรไทย ที่เข้ามาใช้ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบ “ดิจิทัล แบงก์กิ้ง” มากเป็นอันดับ 1 ด้วยปริมาณการใช้เฉลี่ยที่ 10-11
ล้านคน ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ ตามมาในอันดับที่ 2 และ 3 ในจำนวนผู้ใช้ประมาณ 9-10 ล้านคน และ 8-9 ล้านคนตามลำดับ
ขณะที่ ธนาคารกรุงไทยและออมสิน อยู่ในอันดับ 4 และ 5 ในสัดส่วนเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่ 7 ล้านคน และ 6.7 ล้านคน เพียงแต่ว่า ธนาคารออมสินอยู่ระหว่างการมีผู้ใช้บริการ “ดิจิทัล แบงก์กิ้ง” เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ณ ปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการดังกล่าวสูงถึง 7 ล้านคน และคาดว่าภายในสิ้นปี 62 นี้ จะขยับขึ้นไปถึง 8.5 ล้านคน ซึ่งนั่นจะทำให้ธนาคารออมสิน ขยับขึ้นไปเป็นอันที่ 4 อย่างชัดเจน และไม่เพียงแค่นั้น เนื่องจากในปี 63 ที่มีการคาดการณ์กันว่า ยอดผู้ใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบ “ดิจิทัล แบงก์กิ้ง” จะขยับขึ้นเป็น 12-13 ล้านคน และหากเทียบกับตัวเลขของ “ผู้นำตลาด” ในวันที่ 10-11 ล้านคนแล้ว มีโอกาสที่ธนาคารออมสินจะกลายเป็นเบอร์ 1 ของตลาด “ดิจิทัล แบงก์กิ้ง” ของเมืองไทย.