คลัง-ธ.ก.ส. สนดึงแนวคิด“ผูกเสี่ยว”ช่วยแก้จน
รมว.คลัง ควงทีมผู้บริหาร ธ.ก.ส. ลงพื้นที่เยี่ยมชาวขอนแก่น พร้อมอัดฉีดเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วม แถมอุดหนุนเงินลดต้นทุนผลิต มอบถุงยังชีพ และจ่ายสินไหมฯหลังนาข้าวจมน้ำ เผยสนใจแนวคิด “พ่อเมืองขอนแก่น” งัดแนวทาง “ผูกเสี่ยว” มาใช้กับโครงการใหม่ “ประชาสร้างรัฐไทย รวมพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน”
แนวคิดการ “ผูกเสี่ยว” ที่ นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผจว.ขอนแก่น นำมาใช้บูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ภายใน จ.ขอนแก่น เป้าหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆ โดยยึดความต้องของชาวบ้านเป็นตัวตั้ง สร้างจุดสนใจอย่างมากต่อ นายอุตม สาวนายน รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผจก. ธ.ก.ส. ระหว่างลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกร พร้อมมอบเงินช่วยเหลือตามโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 62/63 มอบเงินค่าสินไหม แก่เกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งที่เข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปีปีการผลิต 62 และมอบถุงยังชีพแก่เกษตรกรที่ประสบอุทกภัยกว่า 1,000 ราย ณ ที่ว่าการ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เมื่อช่วงสายวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา
“รมว.คลัง ได้ฟังแนวคิดที่ ผจว.ขอนแก่น พูดถึงการผูกเสี่ยว โดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมให้กับชาวบ้านในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ที่อิงกับปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการแท้จริงของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ แล้วรู้สึกพอใจอย่างมาก เพราะตรงกับแนวทางของรัฐบาลในการดำเนินโครงการประชาสร้างรัฐไทย รวมพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน จึงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ไปประสานงานและศึกษาแนวคิดดังกล่าว ทั้งนี้ ในส่วนของ ธ.ก.ส. ผมได้สั่งการไปยัง ผอจ.ขอนแก่น ให้เร่งดำเนินการติดตามแนวคิดการผูกเสี่ยว เพื่อนนำมาปรับใช้กับการดำเนิงานของคณะกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากประชารัฐสร้างไทย ที่คาดว่าจะเห็นการจัดตั้งเป็นรูปธรรมในสัปดาห์หน้า” ผจก. ธ.ก.ส. ระบุ
ด้านนายอุตตม กล่าวว่า รัฐบาลห่วงใยพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ทั้งต่อรายได้และเศรษฐกิจโดยรวมจากภัยธรรมชาติ จึงได้ช่วยเหลือผ่าน ธ.ก.ส. เช่น สนับสนุนต้นทุนการผลิตให้ผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 62/63 เป็นค่าต้นทุนการผลิต เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาระต้นทุนการผลิตข้าวสูงขึ้น รวมถึงแบ่งเบาภาระรายจ่ายในครัวเรือน และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน อีกทั้งเพื่อให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว กำหนดไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ต่อครอบครัว ครอบคลุมเกษตรกร 4.31 ล้านครัวเรือน วงเงิน 24,810 ล้านบาท โดยขณะนี้ได้โอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงแล้ว 1.77 ล้านครัวเรือน วงเงินกว่า 10,967 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ ธ.ก.ส. พิจารณาความช่วยเหลือ โดยจัดหาถุงยังชีพไปมอบให้ผู้ประสบภัย การเข้าไปสนับสนุนศูนย์อพยพหรือจุดรวมพล เพื่อเป็นศูนย์กลางช่วยเหลือและเมื่อสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ ก็จะพิจารณามอบเงินช่วยเหลือ ทั้งในการซ่อมแซมบ้าน ของใช้จำเป็นในครัวเรือน ซ่อมแซมเครื่องมือ เครื่องจักรกลทางการเกษตร เป็นต้น
ด้านภาระหนี้สินที่มีอยู่กับ ธ.ก.ส.ได้ขยายระยะเวลาชพระหนี้ และพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่จำเป็นในครัวเรือน เพื่อป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ ไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ในช่วง 6 เดือนแรก และสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูการผลิตและการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น ค่าลงทุนสร้างหรือ ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โรงเรือนการเกษตร เครื่องมือเครื่องจักรกลที่จะนพมาใช้ในการฟื้นฟูอาชีพ เป็นต้น ไม่เกินรายละ 500,000 บาท ชำระคืนไม่เกิน 15 ปีอัตราดอกเบี้ย MRR-2 หรือเท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี รวมวงเงินสินเชื่อเพื่อรองรับมาตรการต่าง ๆ ดังกล่าว จำนวน 65,000 ล้านบาท
ขณะที่ นายอภิรมย์ กล่าวเสริมว่า ธ.ก.ส. ได้เร่งโอนเงินตามโครงการฯแก่เกษตรกรไปแล้ว 1,773,549 ครัวเรือน เป็นเงินกว่า 10,976 ล้านบาท หรือร้อยละ 40 ของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่1) กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกร้อยละ 60 ทางกรมส่งเสริมการเกษตร จะทยอยส่งข้อมูลการเพาะปลูกให้ ธ.ก.ส. เพื่อตรวจสอบความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯ และเตรียมจ่ายเงินต่อไป โดยมีระยะเวลาการจ่ายเงิน ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 31 ธ.ค.62 ยกเว้นภาคใต้ ที่จะมีถึงวันที่ 30 เม.ย.63
ทั้งนี้ การโอนเงิน ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ซึ่งเกษตรกรสามารถตรวจสอบรายชื่อและสถานะการโอนเงินได้ที่ลิ้งค์ https://chongkho.inbaac.com และตรวจสอบจำนวนเงินที่โอนเข้าบัญชีผ่าน ธ.ก.ส. A-Mobile ตู้ ATM ทุกธนาคาร และเครื่องปรับสมุดเงินฝากอัตโนมัติของ ธ.ก.ส. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสามารถเบิก-ถอนเงินดังกล่าวได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา หรือใช้บริการผ่านตู้ ATM ได้ทุกธนาคาร รวมทั้งสามารถนำไปใช้จ่ายผ่าน ธ.ก.ส. A-Mobile ซึ่งคาดว่าเงินดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรมีสภาพคล่องในการใช้จ่ายและกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย นายอภิรมย์ กล่าวว่า ธ.ก.ส. ได้มอบหมายให้พนักงานใน
พื้นที่ออกเยี่ยมเยียนและมอบถุงยังชีพ จากกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติกว่า 27,000 ถุง พร้อมสนับสนุนอาหาร น้ำดื่ม บริการสุขาเคลื่อนที่ เต็นท์สนาม ที่ศูนย์อพยพหรือจุดรวมพล อีก 13 จุด ทั้งนี้ ในส่วนมาตรการช่วยเหลือด้านภาระหนี้สิน ธ.ก.ส. จะพิจารณาขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามความหนักเบาของผู้ประสบภัยทุกราย และได้จ่ายสินเชื่อฉุกเฉินให้เกษตรกรที่ประสบภัย ทั้งภัยแล้งและอุทกภัยไปแล้วกว่า 24,000 ราย วงเงินประมาณ 1,200 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อสำหรับฟื้นฟูผู้ประสบภัย 2,073 ราย วงเงิน 400 ล้านบาท
โดยในส่วน จ.ขอนแก่น พบว่า มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 62/63 ได้รับเงินสนับสนุนต้นทุน การผลิต 192,675 ครัวเรือน เป็นเงิน 1,025 ล้านบาท และได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่เกษตรกร จ.ขอนแก่น ที่ประสบภัยแล้งในโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 62 รวม 13,100 ราย ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร 161,793 ไร่ เป็นเงิน 218 ล้านบาท ทั้งนี้ เกษตรกรที่ประสบความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติ หรือมีข้อสงสัย ในมาตรการช่วยเหลือต่างๆ สามารถติดต่อ ธ.ก.ส. ในพื้นที่ หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ Call Center 02 555 055
“อยากเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรชาวนา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ได้เข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 62/63 โดยรัฐบาลจะออกให้ 85 บาทต่อไร่ (60%) และ ธ.ก.ส.ออกให้อีก 34 บาทต่อไร่ (40%) โดยเกษตรกรจะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทน 1,260 บาทต่อไร” ผจก. ธ.ก.ส. ย้ำ
อนึ่ง เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย สามารถซื้อประกันภัยเพิ่มในอัตรา 5, 15 หรือ 25 บาทต่อไร่ ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ที่อาจมีความเสี่ยงแตกต่างกัน โดยจะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมอีกไร่ละ 240 บาท และในส่วนของการซื้อเพิ่มประกันภัยที่เกี่ยวกับศัตรูพืชและโรคระบาด จะได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมอีกไร่ละ 120 บาท ทั้งนี้ การเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี จะครอบคลุมถึง 8 ภัยพิบัติ อาทิ น้ำท่วม/ฝนตกหนัก, ภัยแล้ง/ฝนแล้ง/ฝนทิ้งช่วง, ลมพายุ/ไต้ฝุ่น, ภัยอากาศหนาว, น้ำแข็งแห้ง/ลูกเห็บ, ไฟไหม้/ ภัยจากช้างป่า และศัตรูพืชและโรคระบาด.