ครม.แจ้งเกิดรถไฟฟ้า PPP
ครม.อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง มูลค่าการลงทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาท โยนกลองให้ “สมคิด” หาผู้ร่วมทุนแบบพีพีพี นำร่องโครงการแรกของรัฐบาล “อาคม” มั่นใจพร้อมผุดรถไฟฟ้าความเร็วสูง 4 เส้นทางเชื่อมโยงบนน้ำและอากาศ ทั้งเหนือ-อีสาน-ตะวันออกและใต้
“ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ได้อนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (สมคิด) ไปดำเนินการในรายละเอียดของโครงการนี้ ด้วยวิธีการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนกับภาครัฐ หรือ Public Private Partnership : PPP ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน” พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวประจำสัปดาห์หลังจากที่การประชุม ครม.เสร็จสิ้น
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า “โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองจะเป็นการลงทุนโครงการแรกที่มีการลงทุนพีพีพี ที่ภาครัฐจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนได้”
ขณะที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ครม.อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) เป็นระบบรถไฟฟ้าทางเดี่ยว (โมโนเรล) โดยทั้งนี้ 2 โครงการได้มีการปรับลดกรอบวงเงินลง โดยรถไฟฟ้าสายสีชมพูระยะทาง 34.5 กิโลเมตร 30 สถานี ปรับลดลงเหลือ 53,490 ล้านบาท จากเดิม 56,691 ล้านบาท และสายสีเหลืองระยะทาง 30.4 กิโลเมตร 23 สถานี ปรับลงมาเป็น 51,810 ล้านบาท จาก 54,644 ล้านบาท รวมวงเงินลงทุนทั้งหมดที่ 105,300 ล้านบาท จากเดิม 111,335 ล้านบาท
สำหรับ รูปแบบของการลงทุนนั้นจะเป็น PPP Net Cost โดยรัฐบาลจะลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำนวน 6,847 ล้านบาท ในรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองจำนวน 6,013 ล้านบาท รวมทั้งให้วงเงินสนับสนุนแก่เอกชนสำหรับงานโยธาไม่เกิน 21,200 ล้านบาท สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู และไม่เกิน 22,354 ล้านบาท สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง
ขณะเอกชนที่ร่วมลงทุนจะลงทุนงานโยธาส่วนใหญ่ ค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งงานบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการ โดยให้ระยะเวลาเอกชนดำเนินการ 33 ปี ซึ่งรวมระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน และระยะเวลาสัมปทานเดินรถ 30 ปี ซึ่งเอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงของจำนวนผู้โดยสาร
“การเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน เพราะเอกชนสามารถดำเนินงานได้ดีกว่าที่ภาครัฐและยังมีการกำหนดการแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันในทีโออาร์ หรือหนังสือบันทึกความเข้าใจหรือทีโออาร์ ซึ่งขณะนี้ ดำเนินการไปแล้วมากกว่า 90% และจะเปิดประมูลได้ภายใน 3 เดือน หรือประมาณเดือนมิ.ย.59 โดยกระทรวงคมนาคมคาดว่า ปริมาณผู้โดยสารของรถไฟฟ้าสายสีชมพู 270,000 คนต่อวัน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเหลือง 250,000 คนต่อวัน โดยเบื้องต้นจะเก็บอัตราค่าโดยสาร เริ่มต้นที่ 15 บาท ระยะต่อไปคิดในอัตรา 2.2 บาทต่อกิโลเมตร”
นอกจากนี้ รมว.คมนาคม ยังระบุว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง 4 เส้นทาง เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงคมนาคมทั้งประกอบด้วยเส้นทาง กรุงเทพ-นครราชสีมา กรุงเทพ-เชียงใหม่ กรุงเทพ-หัวหิน และกรุงเทพ-ระยอง ซึ่งผลการศึกษาล่าสุด ระบุว่า โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงมีความคุ้มค่าทางด้านการลงทุน เนื่องจากรายได้หลักของโครงการจะมาจากการพัฒนาเชิงพาณิชย์และด้านอสังหาริมทรัพย์ คิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 60% ส่วนรายได้ค่าโดยสารอยู่ที่ 30-40 %
“โครงการรถไฟความเร็วสูงในต่างประเทศไม่ได้อยู่ได้ด้วยค่าโดยสาร แต่จะมาจากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในเรื่องของโอกาสการขยายพื้นที่เศรษฐกิจในเมืองสำคัญๆ ทั้งทางบนทางน้ำและทางอากาศที่สามารถเชื่อมแหล่งท่องเที่ยว อุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงเศรษฐกิจพิเศษที่มีศักยภาพรองรับการเติบโตในอนาคต“ รมว.คมนาคม กล่าว.