สตง.ขึ้นชั้นคณะมนตรีองค์การตรวจสอบโลก
สตง. สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการตรวจเงินแผ่นดินไทย ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งคณะมนตรีขององค์การตรวจสอบสูงสุดระดับโลก
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า สตง. คือ ตัวแทนประเทศไทย ที่ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 2 ของคณะมนตรีขององค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดแห่งเอเชีย (Asian Organization of Supreme Audit Institutions – ASOSAI) ระหว่างการร่วมประชุม ASOSAI ครั้งที่ 54 ณ เมืองคูเวตซิตี้ รัฐคูเวต ช่วงวันที่ 21-24 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินในระดับภูมิภาคเอเชีย ในคณะมนตรีขององค์การสถาบันการตรวจสอบสูงสุดระหว่างประเทศ (INTOSAI Governing Board)
“การเลือกตั้งครั้งนี้ มีองค์กรตรวจเงินแผ่นดิน 4 ชาติเสนอตัวเข้าแข่งขัน คือ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งทั้ง 2 ชาติล้วนเป็นอดีตประธาน INTOSAI Governing Board มาก่อน ขณะที่ เวียดนาม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธาน ASOSAI และประเทศไทย ซึ่งจะดำรงตำแหน่งประธาน ASOSAI ในวาระถัดไปคือ ปี พ.ศ. 64-66 โดยผลการลงคะแนนปรากฏว่า สตง.ไทย ได้รับคะแนนเสียง 6 เสียง จากประเทศคณะมนตรี ASOSAI ทั้งหมด 11 ประเทศ ถือว่ามีคะแนนสูงสุดเป็นลำดับที่ 2 รองจากองค์กรตรวจเงินแผ่นดินญี่ปุ่น มีผลทำให้องค์กรตรวจเงินแผ่นดินของญี่ปุ่น และไทย ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนขององค์กรตรวจเงินแผ่นดินในระดับภูมิภาคเอเชีย ให้ทำหน้าที่เป็น INTOSAI Governing Board ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย ตั้งแต่การตรวจเงินแผ่นดินได้ถือกำเนิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และถือเป็นเกียรติประวัติและความภาคภูมิใจของคนตรวจเงินแผ่นดินทุกคน” นายประจักษ์ระบุ
สำหรับ INTOSAI Governing Board ประกอบด้วย 21 ประเทศ โดยแบ่งออกเป็นคณะมนตรีโดยตำแหน่ง (Ex-officio) 10 ประเทศ และคณะมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของสมัชชาใหญ่ อีก 11 ที่นั่ง มีวาระคราวละ 6 ปี ซึ่งในบทบัญญัติธรรมนูญการบริหารงานของ INTOSAI ได้กำหนดให้ INTOSAI Governing Board มีหน้าที่และอำนาจที่สำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากสมัชชาใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของ INTOSAI รวมถึงการทบทวนและรับรองแผนยุทธศาสตร์ของ INTOSAI เป็นต้น
“คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้กำหนดนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินที่สำคัญในหลายด้าน โดยเฉพาะการยกระดับให้องค์กรตรวจเงินแผ่นดินไทยก้าวสู่การเป็นองค์กรชั้นนำด้านการตรวจสอบในระดับสากล รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนในการเตรียมความพร้อม เพื่อให้ สตง.ทำหน้าทีเป็นผู้ประเมินผล ติดตามตรวจสอบความ ก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ในการบริหารเงินแผ่นดิน ที่ตอบสนองต่อการนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนางานตรวจสอบของ INTOSAI ในอนาคตที่มุ่งหวังให้องค์กรตรวจเงินแผ่นดินทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องการตรวจสอบ SDGs ดังนั้น การดำรงตำแหน่งคณะมนตรีของ INTOSAI จึงเป็นการตอบสนองต่อนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน และนับเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของ สตง.ไทยในเวทีระหว่างประเทศ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงกลไกการตรวจสอบของประเทศไทยที่ได้รับความเชื่อมั่นในสายตาของนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ด้านความโปร่งใสของประเทศไทยในระยะยาว” นายประจักษ์ ย้ำและว่า
การดำรงตำแหน่ง INTOSAI Governing Board นับเป็นก้าวแรกของการยกระดับงานด้านการต่างประเทศ สตง. จึงจำเป็นต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ ทั้งในส่วนของทิศทางการสร้างความร่วมมือกับองค์กรตรวจเงินแผ่นดินและแหล่งทุนต่างประเทศ การพัฒนางานวิชาการต่างประเทศโดยเผยแพร่ผ่านช่องทางที่มีความหลากหลาย ตลอดจนการเตรียมความพร้อมและพัฒนาทีม External auditor สำหรับการตรวจสอบองค์กรระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น จัดประชุม Workshop แลกเปลี่ยนความรู้กับองค์กรตรวจเงินแผ่นดินประเทศอื่นๆ เป็นต้น.