คปภ.ดึงเอกชนร่วมสกัดปมถ่วงประกันภัย
คปภ.ดึง 3 สมาคมประกันฯ พร้อม “ซีอีโอ” บริษัทประกันภัย ทั้งในและต่างชาติ หารือ “กระบวนการเห็นชอบกรมธรรม์ – แบบประกันสุขภาพใหม่” เผยปี 61 มีเอกชนเสนอแบบกรมธรรม์มากถึง 8,800 แบบให้ คปภ.พิจารณา คาดสิ้นปี 62 อาจทะลุ 10,000 แบบ ลั่นจะเร่งให้จบภายใน 30 วัน พร้อมดันตั้ง “คกก.ผลิตภัณฑ์” ช่วยสางปมติดขัด ด้านนายกสมาคมประกันวินาศภัยฯ จี้รัฐ ดูเฉพาะสินค้าประกันภัยที่สร้างปัญหาแก่ประชาชน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานกล่าวการประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของด้านกำกับ สำนักงาน คปภ. ให้กับนายกสมาคมประกันชีวิตไทย, นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย, นายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้บริหารระดับสูง (ซีอีโอ) ของบริษัทประกันภัยทั้งในและต่างประเทศ รวมกันเกือบ 200 คน ได้รับฟัง พร้อมตอบข้อซักถามในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เมื่อช่วงสายของวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ร.ร.ดิเอมเมอรัลด์ รัชดา
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ไม่บ่อยครั้งที่มีโอกาสได้พูดคุยหารือและรับฟังความคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะจากผู้แทนทั้ง 3 สมาคม รวมถึงผู้บริหารบริษัทประกันภัยทั้งในซีกของประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ซึ่งในจำนวนนี้ มีผู้บริหารบริษัทประกันภัยจากต่างประเทศรวมอยู่ด้วย ถือเป็นการพูดคุยที่พร้อมเพรียงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ที่ผ่านมาเป็นเพียงการพูดคุยเป็นกลุ่มย่อย ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดประเด็นที่ต้องการชี้แจงทำความเข้าใจและเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคอุตสาหกรรมประกันภัย
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของการจัดงานฯนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะสื่อสารไปยังเรื่องสำคัญที่สำนักงาน คปภ.ได้บูรณาการกลับไปยังอุตสาหกรรมประกันภัย ในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อภาคประชาชนและอุตสาหกรรมประกันภัย ใน 2 ส่วน ซึ่งส่วนแรก คือ การปรับปรุงกระบวนการให้ความเห็นชอบกับกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งในส่วนที่สำนักงาน คปภ.จะดำเนินการ และในส่วนที่จะขอความร่วมมือกับบริษัทประกันภัย และส่วนที่ 2 คือ ผลของการปรับปรุงการประกันสุขภาพ ซึ่งมีประเด็นต่างๆ ที่ต้องการจะสะท้อนภาพออกมา หลังจากมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันมาก่อนหน้านี้ ว่า มีประเด็นอะไรบ้างที่ได้ดำเนินการ และจะการสื่อสารถึงข้อแนะนำเพื่อปรับปรุงในเรื่องใดบ้าง
โดยประเด็นแรก เห็นตรงกันว่า มีเรื่องที่จะต้องปรับปรุงคือ ถึงเวลาที่จะต้องดำเนินการปรับปรุงการให้ความเห็นชอบของกรมธรรม์ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาการประกันภัย คือ ต้องการเพิ่มศักยภาพให้บริษัทประกันภัยสามารถแข่งขันได้ ดังนั้น อะไรที่ สำนักงาน คปภ.สามารถจะช่วยให้มีแบบกรมธรรม์ประกันสุขภาพได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขัน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจในบทบาทของ สำนักงาน คปภ. ว่า แบบกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกมาแล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยมีการพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นไปพร้อมกัน รวมทั้งแบบประกันสุขภาพว่ามีประเด็นความห่วงใยในเรื่องใดบ้าง
อย่างไรก็ตาม คงต้องหารือกันต่อไปว่า หากแบบกรมธรรม์ประกันแบบใหม่ออกมาแล้ว จะทำอย่างไรกับแบบกรมธรรม์ประกันภัยเก่า ซึ่งส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ปล่อยให้ผู้เอาประกันฯตัดสินใจเองว่าจะตัดสินใจใช้แบบเก่าต่อไปหรือเลือกไปใช้แบบกรมธรรม์ประกันใหม่
ด้าน นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการด้านตรวจสอบ สำนักงาน คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. พยายามเร่งรัดการอนุมัติแบบประกันภัย โดยให้บริษัทประกันภัยดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการผลิตภัณฑ์ (Product Governance Committee) ภายใต้เงื่อนไขตามหลักเกณฑ์สำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1.เป็นไปตามหลักเกณฑ์ประกันภัย 2.ไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย 3.มีการพิจารณาระบบงานที่รัดกุม ตั้งแต่ต้นทางจนจบกระบวนการ 4.สอดคล้องกับกฎระเบียบของ สำนักงาน คปภ. และ 5.ค่าเบี้ยเป็นไปตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย
“ตัวเลขในปี 61 พบว่ามีแบบประกันภัยที่ยื่นเสนอมาให้พิจารณามากถึง 8,800 แบบ และมีแนวโน้มว่าในปีนี้ อาจมีแบบประกันภัยที่ยื่นขอมามากถึง 10,000 แบบ ซึ่งถือเป็นงานหนักของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องเร่งรัดพิจารณาอนุมัติให้ได้ภายใน 30 วัน” นายชูฉัตร ย้ำ
ด้าน นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า อยากให้สำนักงาน คปภ.เข้าใจว่า บริษัทประกันภัยเองก็ต้องการรักษากลุ่มลูกค้าคุณภาพดีเอาไว้ ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้กลุ่มลูกค้าคุณภาพไม่ดีมาฉุดรั้งทำให้ลูกค้ากลุ่มคุณภาพดี ต้องได้รับผลกระทบไปพร้อมกัน ดังนั้น จึงเสนอแนะให้สำนักงาน คปภ.ได้พิจารณาว่าแบบประกันภัยใด ที่บริษัทประกันภัยเสนอมาแล้วเกี่ยวข้องกับคนกลุ่มน้อย โดยไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนคนส่วนใหญ่ เพื่อจะได้พิจารณาอนุมัติแบบกรมธรรม์โดยเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบอะไรให้มากนัก
“แม้สำนักงาน คปภ.ไม่ออกกฎระเบียบที่เข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติแบบกรมธรรม์ เพื่อป้องกันมิให้บริษัทประกันภัยเอาเปรียบประชาชน แต่ก็เป็นหน้าที่ของบริษัทประกันภัยที่จะต้องรักษาฐานลูกค้าในกลุ่มคุณภาพดีเอาไว้อยู่แล้ว จึงอยากให้พิจารณาถึงความเหมาะสมว่า สิ่งใดที่สำนักงาน คปภ.ควรต้องทำ และไม่ควรทำ เพราะทุกๆ เดือนจะมีแบบกรมธรรม์เสนอมาให้พิจารณาเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และยิ่งมีการเปิดเสรีทางด้านประกันภัยมากเท่าใด การแข่งขันก็จะยิ่งสูงขึ้น ดังนั้น จึงอยากให้สำนักงาน คปภ.ดูแลเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนจริงๆ เท่านั้น” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ระบุ.