กรมศุลฯบูรณาการสกัดของเถื่อนช่วยเกษตรกร
กรมศุลฯ แจงยอดจับกุมลดลง เหตุผู้ประกอบการอยู่ในกรอบ กม.มากขึ้น เผยการลักลอบขนยาเสพติด “เมทแอมเฟตามีน -เคตามีน” ยังเป็นหนามยอกอก ลั่น พร้อมบูรณาการ “ฝ่ายปกครอง-ทหาร-ตร.” สกัดเส้นทางลักลอบขนสินค้าเกษตร หวั่นกระทบชาวไร่ชาวนาไทย “โฟกัส” ดึง กองทัพภาค 4 แก้ปมลักลอบขน “น้ำมันปาล์ม-น้ำมันเถื่อน” อยู่หมัด
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร และโฆษกกรมศุลกากร กล่าวถึงมาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร น้ำมันปาล์ม น้ำมันเชื้อเพลิง และผลการจับกุมประจำเดือน ก.ค.62 และในปีงบประมาณ 62 (ต.ค.61- ก.ค.62) ว่า เป็นไปตามนโยบายของ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร ที่ต้องการเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตร น้ำมัน ยาเสพติด IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา Cites โดยสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง บ้านเรือน แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลาซึ่งมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการลักลอบ
นอกจากนี้ มีการบูรณการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทหาร กอ.รมน. ปปส. บช.ปส. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่างๆ Interpol DEA เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกัน โดยเดือน ก.ค.562 กรมฯพบการกระทำความผิด 2,778 คดี มูลค่ารวม 393.67 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าจากการกระทำผิดกรณีลักลอบถึงร้อยละ 74.7 โดยสินค้าที่มีการลักลอบนำเข้า อาทิ ยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน ยาเสพติดประเภทเคตามีน เป็นต้น
สำหรับผลการตรวจยึดสินค้ากรณีความผิดลักลอบและหลีกเลี่ยง ในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 62 (ต.ค.61 – ก.ค.62) สามารถจับกุมการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากร หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง รวม 26,321 คดี มูลค่ารวม 2,230 ล้านบาท เป็นมูลค่าจากการกระทำผิดกรณีลักลอบ ร้อยละ 69.87 ซึ่งสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้าสูงในช่วงดังกล่าว คือ ยาเสพติดประเภท เมทแอมเฟตามีน และบุหรี่ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบส่งออกสูงในช่วงนี้ ยังคงเป็นยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีน ยาเสพติดประเภทเคตามีน
นอกจากนี้ ในส่วนของมาตรการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าเหล่านี้ เข้ามาสร้างความเสียหายแก่เกษตรกไทยนั้น กรมศุลกากรได้บูรณาการการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ทหารและตำรวจในพื้นที่ เพื่อป้องกันและปราบปรามมิให้มีการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรมายังไทย อย่างเข้มแข็งและจริงจัง โดยก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมศุลกากรมีคำสั่งไปยังด่านศุลกากรทุกแห่ง
โดยเฉพาะด่านศุลกากรที่ติดพรมแดนประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ทั้งการนำเข้าและส่งออก รวมถึงตรวจสอบเส้นทางการขนส่ง ตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทาง และตรวจสอบพฤติกรรมการขนส่ง ว่า มีการขับออกนอกเส้นทางหรือไม่? และใช้เวลาดำเนินการเกินกว่าปกติหรือเปล่า?รวมถึงเอ็กซ์เรย์สินค้า เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว
“ในส่วนของภาคใต้ ที่มีปัญหาเรื่องการลักลอบขนสินค้าเกษตร รวมถึงน้ำมันปาล์ม และน้ำมันเชื้อเพลิงนั้น กรมฯได้บูรณาการร่วมกับกองทัพภาคที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อสกัดปัญหาดังกล่าว ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ” โฆษกกรมศุลกากร ย้ำ
ด้านนายธาดา ชุมไชโย ผอ.กองสืบสวนและปราบปราม (กสป.) กรมศุลกากร กล่าวเสริมว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ข้อมูลสถิติบ่งชี้ว่า ยอดการจับกุมในส่วนของการลักลอบมีปริมาณการจับกุมที่น้อยลง สะท้อนว่า ผู้นำเข้าและส่งออกปฏิบัติตามกฎระเบียบของกรมศุลกากรมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ทั้งนี้ หากประชาชนท่านใดทราบเบาะแสการกระทำความผิดเกี่ยวกับลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยมิผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้องของกรมศุลกากร สามารถแจ้งโดยตรงได้ที่กรมศุลกากร หรือสำนักงานศุลกากรทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งกรมศุลกากรจะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสเป็นความลับ.