กรมศุลฯ จ่อดึงรายใหญ่เข้า e-Bill Payment
กรมศุลฯ ประสบความสำเร็จ นำ ระบบ e-Bill Payment มาใช้ลดต้นทุนต่อ 1 ใบขนสินค้า จากเดิม 334.37 บาท เหลือเพียง 0.63 บาท เผยพบรายใหญ่ ยอดนำเข้า-ส่งออกทะลุ 100 ล้านบาท ยังไม่รู้แจ้ง ใช้ระบบเก่าเคลียร์อากร จ่อนัดแจงดึงเข้าสู่ระบบ e-payment แล้ว
นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร และโฆษกกรมศุลกากร กล่าวถึงการนำระบบ e-Bill Payment มาใช้รองรับการรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตามนโยบายรัฐบาล (National e-payment) ที่ต้องการขับเคลื่อนให้ไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (National e-payment) ทั้งด้านการเบิกจ่าย และการรับชำระเงิน อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมปรับปรุงแก้ไขระบบกฎหมายเกี่ยวกับการเงินการคลังภาครัฐเพื่อให้รองรับการรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-payment ตาม ข้อ 78 ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 โดยประกาศลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 พ.ค.62
ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้มีประกาศกรมศุลกากร ที่ 9/2562 ลงวันที่ 10 ม.ค.62 เปิดใช้ระบบการรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านธนาคาร หรือตัวแทนรับชำระ หรือ “ระบบ e-Bill Payment” ซึ่งผู้ประกอบการ สามารถชำระเงินค่าภาษีอากรผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารและตัวแทนรับชำระที่เข้าร่วมโครงการฯได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั่วไทย
ด้านนายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ รองโฆษกกรมศุลกากร กล่าวเสริมว่า ผู้ชำระอากรสามารถใช้ใบขนสินค้าที่มี QR Code Barcode หรือเลขที่อ้างอิง ไปชำระผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคาร ได้แก่ Internet Banking Mobile Banking ATM และเคาน์เตอร์ธนาคาร หรือชำระที่จุดให้บริการรับชำระของตัวแทนรับชำระ (Non-bank) นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถพิมพ์ใบเสร็จรับเงินได้ด้วยตนเอง ผ่านระบบ e-Tracking ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้เช็คธนาคาร และการเดินทางเพื่อมาติดต่อราชการกับกรมศุลกากร ได้ถึง 334.37 บาท ต่อ 1 ใบขนสินค้า หรือปีละ 286 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากลงรายละเอียด ตามที่สมาคมผู้เกี่ยวข้องได้นำเสนอมายังกรมฯ พบว่า จากเดิมที่ต้องใช้เงินต่อ 1 ใบขนสินค้า ประมาณ 334.37 บาทนั้น เมื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบ e-Bill Payment จะทำให้ต้นทุนดำเนินการเหลือเพียง ค่ากระดาษ A-4 ประมาณ 0.18 บาท/แผ่น และค่าหมึกพิมพ์ 0.45 บาทต่อครั้ง รวมต้นทุนต่อครั้ง (ใบขนสินค้า) เหลือเพียง 0.63 บาทเท่านั้น
จากสถิติการใช้ระบบ e-Bill Payment ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ประกอบการพิมพ์ใบเสร็จรับเงินด้วยตนเอง ถึง 1,373,988 ฉบับ หรือร้อยละ 99.91 ของจำนวนใบเสร็จรับเงินที่รับชำระด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในจำนวนผู้ที่ยังชำระอากรผ่านระบบแคชเชียร์เช็ค ส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะที่มีมูลค่านำเข้า และ/หรือ ส่งออกรวมกันมากกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งกรมศุลกากรได้ประสานเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบรายเหล่านั้นแล้ว และจะนัดหมายพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ และจะเร่งให้เข้าสู่ระบบ e-Bill Payment โดยเร็ว
ทั้งนี้ ปัจจุบัน พบว่า มีธนาคารเข้าร่วมโครงการ e-Bill Payment ในระยะแรก 4 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ และมีตัวแทนรับชำระที่เข้าร่วมโครงการ คือ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด หรือที่รู้จักกันในนาม 7- eleven
โดยขณะนี้ มีธนาคารและตัวแทนรับชำระเข้าร่วมโครงการกับกรมศุลกากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันที่ 27 ส.ค.62 นี้ กรมฯจะจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง การให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรทางอิเล็กทรอนิกส์ (Bill Payment) โดยผ่านช่องทางการให้บริการของธนาคารและตัวแทนรับชำระ ระหว่างกรมศุลกากร กับธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บิ๊กซีซุปเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด และจะทำความตกลงกับธนาคารและตัวแทนรับชำระอื่นๆ ต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ อาทิ ธนาคารธนชาต ธนาคารแบงก์ ออฟ ไชน่า เป็นต้น.