ผ่อนบ้านประชารัฐเดือนละ 3 พันบาท
“ธอส.จะเสนอรูปแบบสินเชื่อโครงการบ้านประชารัฐภายใต้เงื่อนไขที่ดีที่สุด เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย สามารถมีบ้านเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น” นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวในงานแถลงผลการดำเนินการของธนาคารปี 58 เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา
ในเดือนก.พ.นี้ น่าจะมีข้อสรุปทั้งหมด ระหว่างกระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ธอส. กรมธนารักษ์ และภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการนี้ โดยในสัปดาห์นี้ จะหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นครั้งสุดท้าย หากท่านไฟเขียว (ไม่มีแก้ไขอะไรเพิ่มเติม) กระทรวงการคลังก็จะนำเรื่องนี้ เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันที่ 9 ก.พ.2559
ประธาน ธอส. กล่าวว่า ประเด็นสุดท้ายที่ต้องมีการหารือกันคือ รายได้ควรที่จะอยู่ที่ระดับเท่าใด หากรายได้อยู่ที่ 15,000 บาท เราก็ต้องออกแบบสินเชื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ แต่หากสูงกว่านั้น ก็เกรงว่า คนจนของประเทศก็อาจจะเข้าไม่ถึงโครงการบ้านประชารัฐ
สำหรับโครงการนี้ ธอส. ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 30,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ เบื้องต้นปีแรกเพียง 2% และจากนั้น อัตราดอกเบี้ยจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น แต่ไม่ก้าวกระโดดจนผู้กู้รู้สึกตกใจ เช่น จากเดือนละ 3,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 บาท เป็นต้น
ซึ่งประเด็นนี้ ธอส. ต้องการให้กระทรวงการคลังช่วยเหลือทางด้านแหล่งเงินกู้ เพราะหากอัตราดอกเบี้ยต่ำมากๆ เราก็จำเป็นต้องหาแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำๆ มาเฉลี่ยกับต้นทุนเงินกู้ของ ธอส. เพื่อกดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำที่สุด เช่น เงินกู้ซอฟท์โลนจากธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย โดย ธอส.ยืนยันว่า เราไม่ได้แสวงหากำไรจากโครงการนี้ แต่ต้องช่วยรัฐบาล
นายสุรชัย กล่าวว่า ผู้กู้ในโครงการบ้านประชารัฐ ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่สำคัญ 3 ประการคือ 1. รายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน กรณีกู้ร่วมรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท 2. ต้องไม่เคยมีอสังหาริมทรัพย์ หรือมีบ้านเป็นของตนเองมาก่อน และ 3. ต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการกับ ธอส. เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ
ส่วนทางด้านโครงการอสังหาริมทรัพย์ ธอส.เปิดกว้างให้นำทรัพย์สินรอการขาย (เอ็นพีเอ) ของธนาคารเฉพาะกิจ โครงการอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน และบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (แซม) สามารถเข้าร่วมโครงการ นี้ได้ โดยวงเงินปล่อยกู้สำหรับคอนโดมิเนียม รายละไม่เกิน 700,000 บาท และบ้านแถวไม่เกิน 900,000 บาท แต่จะไม่ปล่อยกู้เพื่อปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง
“อัตราดอกเบี้ยโครงการนี้ มี 2 รูปแบบคือ 1. กรณีซื้อขาดอสังหาริมทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ชัดเจน แต่กำหนดกรอบเอาไว้ โดยในช่วง 3 ปีแรก ผ่อนชำระเดือนละ 3,000 บาท ปีที่ 3 ถึงปีที่ 6 ผ่อนเดือนละ 3,400 บาท และตั้งแต่ปีที่ 6 เป็นต้นไป ผ่อนชำระเดือนละ 4,100 บาทโดยมั่นใจว่า วงเงินที่ผ่อนชำระไม่เกิน 4,000 บาทต่อเดือน จะให้ผู้ที่มีรายได้น้อยสามารถผ่อนส่งได้อย่างสบาย โดยในช่วง 3 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2% ต่อปี”
ส่วนกรณีเช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ บนที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ และที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. ระยะยาว 30 ปี ซึ่งไม่ได้นำค่าที่ดินมารวมกับค่าก่อสร้างที่อยู่อาศัย จะทำให้ราคาบ้านถูกลงเหลือประมาณ 500,000 บาท และยังทำให้เงินงวดผ่อนชำระก็ถูกลงด้วย โดยประเมินว่า เงินงวดผ่อนชำระลดลงเหลือเดือนละไม่เกิน 2,500 บาท ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับบ้านเช่า จึงมั่นใจว่า ลูกค้ากลุ่มนี้จะเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่จะเข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐ เพราะการเช่าบ้านสิทธิ์ประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่กับผู้เช่า แตกต่างจากบ้านโครงการประชารัฐ หากผู้เช่าผ่อนชำระหมดแล้ว สิทธิ์ในตัวบ้านจะตกอยู่กับเจ้าของบ้านตลอดระยะเวลา 30 ปี
ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เอกชนจากที่หารือกพบว่า ปัจจุบันมีโครงการของเอกชนมากกว่า 7,000 ยูนิตที่เข้าร่วมโครงการนี้ได้ทันทีเช่น บริษัท พฤกษา บริษัท แอลพีเอ็น บริษัท นิรันดร์คอนโดฯ เป็นต้น ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นคอน โดมิเนียม ราคาไม่เกิน 700,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีบ้านเอ็นพีเอของธนาคารเฉพาะกิจอยู่อีก 2,500 ยูนิต รวมแล้วเกือบ 10,000 ยูนิต ซึ่งยังไม่นับรวมบ้านประชารัฐของกรมธนารักษ์ที่ใช้ที่ราชพัสดุดำเนินโครกการนี้อีก 6 แปลง เช่น ฝั่งตรงข้ามซอยวัดไผ่ตัน ถนนพหโยธิน ถนนช้างคลาน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น โดย ธอส. ปล่อยที่จะปล่อยกู้โครงการ และปล่อยกู้ให้แก่ผู้ซื้อรายย่อยนอกจากนี้ ธอส. ยังมีเงื่อนไขพิเศษให้แก่ผู้กู้ในโครงการบ้านประชารัฐ โดยจะไม่คิดค่าธรรมเนียมการโอน 2% กับผู้กู้ทุกราย ซึ่งปัจจุบันมาตรกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่รัฐบาลลดค่าธรรมเนียมการโอนลงเหลือ 0.1% จาก 2% ตั้งแต่เดือนต.ค.58 จน ถึงเดือนเม.ย.2559 นั้น หากพ้นระยะเวลาของมาตรการดังกล่าว ธอส.จะรับผิดชอบทั้งหมดคิดเป็นเงิน 270 ล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานของ ธอส.ปี58 ปล่อยสินเชื่อใหม่ 157,447 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 57 จำนวน 14,750 ล้านบาท มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นแตะ 900,223 ล้านบาท มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 47,049 ล้านบาท หรือ 5.45% และมีกำไร 8,700 ล้านบาท