มติเอกฉันท์กนง.คงดอกเบี้ย 1.50% ต่อปี
กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อปี มั่นใจไม่เข้าสูภาวะเงินฝืด
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี
ทั้งนี้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2558 ทยอยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐที่ทำได้ดีต่อเนื่อง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ทยอยปรับดีขึ้นจากกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ และการบริโภคภาคเอกชนที่มีทิศทางปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากผลชั่วคราวของมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงก่อนปีใหม่ และการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับขึ้น ภาษีสรรพสามิต ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวสูง
แรงกดดันเงินเฟ้อปรับลดลงต่อเนื่องจากการประชุมครั้งก่อน ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงเร็ว และมากกว่าคาดการณ์ทำให้ความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อโน้มไปด้านต่ำเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบในปัจจุบันจะทยอยปรับสูงขึ้น และมีแนวโน้มจะกลับเป็นบวกในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ขณะที่ความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงินฝืดมีจำกัด เนื่องจากอุปสงค์ยังขยายตัว และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก ซึ่งสะท้อนว่าราคาสินค้านอกกลุ่มพลังงานส่วนใหญ่มีแนวโน้มทรงตัว หรือปรับสูงขึ้น สอดคล้องกับการคาดการณ์ เงินเฟ้อในระยะปานกลางของสาธารณชน
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ยังคงขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน โดยอุปสงค์ในประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ในขณะที่มีความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกสูงขึ้น ทั้งด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก ราคาสินค้า โภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำรวมทั้งทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งส่งผล ต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ดีคณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ผ่อนปรน และควรรักษา ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) รวมทั้งยังคงต้องระมัดระวังความเสี่ยงด้านเสถียรภาพ การเงิน จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ จะติดตาม พัฒนาการด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ