ส่งออกไทยหดตัว 5.8% รุนแรงที่สุดในรอบ 6 ปี
ยอดการส่งออกของไทยในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาลดลงถึง 8.7% ส่งผลให้ทั้งปี 58 ยอดดังกล่าวลดลงถึง 5.8% นับเป็นการหดตัวที่รุนแรงมากที่สุดในรอบ 6 ปีเลยทีเดียว
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงยอดการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า ในเดือนธ.ค.58 การส่งออกมีมูลค่า 17,100.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 8.73% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นมูลค่าต่ำสุดในรอบ 8 เดือนนับจากเดือนเม.ย.58 ที่มีมูลค่า 16,895.9 ล้านเหรียญฯ
และเป็นการลดลงที่มากที่สุดในรอบ 4 ปีกับ 1 เดือนคือ นับตั้งแต่เดือนพ.ย.54 เป็นต้นมา
ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 15,612.9 ล้านเหรียญฯ ลดลง 9.23% ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้า 1,487 ล้านเหรียญฯ
ในขณะที่เมื่อคำนวณตามค่าเงินบาทมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 609,371.3 ล้านบาท ลดลง 0.13% ส่วนการนำเข้าคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 562,809.7 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้า 46,561.5 ล้านบาท
ส่งผลให้ตลาดทั้งปี 58 มูลค่าการส่งออกของไทยอยู่ที่ 214,375.1 ล้านเหรียญฯ ลดลง 5.78% เมื่อเทียบกับปี 57 นับเป็นการลดลงที่ต่ำสุดในรอบ 6 ปี นับจากปี 52 ที่ลดลง 14.3 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 202,654.1 ล้านเหรียญฯ ลดลง 11.02 ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้า 11,721 ล้านเหรียญฯ หรือ 321,809.7 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามเมื่อหักมูลค่าการส่งออกทองคำ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันที่มีสัดส่วนรวมกันมากถึง 12.4% ของมูลค่าการส่งออกรวมออกแล้ว ในเดือนธ.ค.58 จะมีมูลค่าการส่งออก 15,216 ล้านเหรียญฯ ลดลง 5.6% ขณะที่มูลค่าการส่งออกทั้งปี 58 จะลดลงเพียง 3.7% เท่านั้น
กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้การส่งออกปี 58 หดตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อลดลง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงมาก และยังไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันลดลงตาม เช่นเดียวกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังลดลงต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังมีปัญหาเรื่องค่าเงินผันผวน เพราะประเทศต่างๆ ใช้มาตรการลดค่าเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าน้อยกว่าประเทศคู่แข่ง ส่งผลให้ราคาสินค้าไทยแพงกว่า และเสียศักยภาพในการแข่งขัน
อย่างไรก็ตามสินค้าส่งออกสำคัญของไทย 10 อันดับแรก มีการส่งออกดีกว่าการส่งออกโลก และส่วนแบ่งตลาดโลกสูงขึ้นถึง 8 รายการ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ รถยนต์นั่ง ส่วนประกอบยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ แผงวงจรไฟฟ้า รวมถึงรถกระบะ ทองคำ เป็นต้น”
แต่ยอมรับว่าในปีนี้เป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่กระเตื้องขึ้น ล่าสุดเดือนม.ค.59 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกขยายตัวเหลือ 3.4% จากเดิม 3.6% ส่วนราคาน้ำมันดิบ หากยังทรงตัวในระดับต่ำ จะทำให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และสินค้าเกษตรลดลง ที่สำคัญจะทำให้กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ส่งออกน้ำมันดิบลดลง และทำให้นำเข้าสินค้าไทยลดลงด้วย แต่ถ้าราคาน้ำมันกลับมา กำลังซื้อกลับมา การส่งออกของไทยจะดีขึ้นได้ แต่เป้าหมายการส่งออกปี 59 ที่ตั้งไว้ขยายตัว 5% จากปีนี้ เป็นเป้าหมายการทำงาน อยากให้มองถึงการรักษาส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทยไว้ได้มากกว่า