สินเชื่อซอฟท์โลนครบแสนล้าน
“ชาติชาย” ขอนัดคุย รมว.คลัง เพิ่มวงเงินสินเชื่อซอฟท์โลน จากแสนล้านบาท เพิ่มอีก 50,000 ล้านบาท
“วงเงินกู้ซอฟท์โลนแสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 4% ต่อปี ขณะนี้ออมสินปล่อยกู้ไปหมดแล้ว” นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว
สำหรับวงเงินสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 4% เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.2558 จนถึงวันนี้ (4 ธ.ค.) วงเงินที่เตรียมเอาไว้ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จำนวน 100,000 ล้านบาท โดยมอบหมายให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ดำเนินการ มีระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี โดยต้องปล่อยกู้ให้แก่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี เพื่อนำปล่อยกู้โดยตรงให้กับผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 4% ต่อปี ซึ่งรัฐบาลจะชดเชยค่าใช้จ่ายส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารออมสินรวม 7 ปี ประมาณ 20,000 ล้านบาท
นายชาติชาย กล่าวว่า ความต้องการสินเชื่อมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงแรกวงเงินสินเชื่อที่เราอนุมัติอาจจะล่าช้า เพราะอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว ยอดการปล่อยกู้ก็มีมากขึ้น โดยในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่จะเต็มวงเงิน ธนาคารออมสินอนุมัติสูงถึง 27,000 ล้านบาท และในท้ายที่สุดปรากฎว่ามียอดสินเชื่อค้างท่ออยู่อีก 50,000 ล้านบาท
“วงเงินสินเชื่อมากที่สุดคือ สินเชื่อเพื่อการค้า และพาณิชย์ สินเชื่อเพื่อขยายธุรกิจ สินเชื่ออุตสาหกรรมเกษตร สินเชื่อบริการ และอื่นๆ” โดยในเร็วๆ นี้ ตนจะนำเรื่องดังกล่าวกับ รมว.คลัง
เพราะในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้ความต้องการสินเชื่อมีเพิ่มมากขึ้น หากธนาคารพาณิชย์ไหนไม่ดูแลลูกค้าของตนเองให้ดี ก็มีโอกาสทำให้ธุรกิจเสียหายมากขึ้นไปอีก
สำหรับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวมีทั้งหมด 19 แห่งคือ 1. ธนาคารไทยพาณิชย์ ใช้วงเงินสินเชื่อประมาณ 25,000 ล้านบาท 2. ธนาคารกรุงไทย 24,000 ล้านบาท 3. ธนาคารกสิกรไทย 16,000 ล้านบาท 4. ธนาคารกรุงเทพ 12,000 ล้านบาท 5. ธนาคารออมสิน 4,800 ล้านบาท 6. ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จำนวน 4,200 ล้านบาท และสถาบันการเงินอื่นๆ อีกรวมกว่า 14,000 ล้านบาท