สรรพากรเล็งปฏิรูปภาษีเงินได้
รายได้ของคนไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นแรงบีบรัดให้กรมสรรพากรต้องปรับโครงสร้างภาษีอีกครั้ง หลังก่อนหน้านี้ ได้ปรับภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% ลงมาเหลือ 25% และ 20% เมื่อปีที่แล้ว
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับปรุงโครงสร้างภาษีอีกครั้ง หลังจากได้ทยอยปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาษีเงินได้นิติบุคคลกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
“ปัจจุบันโครงสร้างภาษีทั้ง 2 รายงานนี้ มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ได้พยายามออกมาตรการช่วย เหลือคนที่มีรายได้น้อย เช่น การเพิ่มค่าลดหย่อนต่างๆ ตั้งแต่คนพิการ บุพการีไปจนถึงการลดภาษีเพิ่มกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การนำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวมาลดหย่อนภาษี การลงทุนผ่านแอลทีเอฟ และอาร์เอ็มเอฟ เป็นต้น”
ขณะที่การยื่นภาษีในแต่ละปี ก็มีขั้นตอน และรายละเอียดมาก ทั้งรูปแบบ และวิธีการ ซึ่งแตกต่างไปจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ออกแบบการยื่นภาษีให้มีความง่ายมากที่สุด
ทั้งนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บในลักษณะขั้นบันได เริ่มตั้งแต่ 5% 10% 15% 20% 25% 30% และสูงสุดที่ 35% แต่ในเบื้องลึกแล้ว ยังมีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนมากๆ และยังส่งผลให้การเสียภาษีในแต่ละปีลดลง เช่น รายได้สุทธิ 150,000 บาทแรกได้รับการยกเว้นภาษี เป็นต้น
ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ลดลงมาเหลือ 20% เมื่อปีที่แล้ว ยังมีเงื่อนไขว่า กรณีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท หากมีรายได้สุทธิไม่เกิน 300,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี รายได้เกินกว่า 300,000 บาทแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 15% และรายได้ที่เกินกว่า 1 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 20% ซึ่งเป็นระดับเดียวกับการเสียภาษีของนิติบุคคล
ทั้งนี้จากข้อมูลของกรมสรรพากร เมื่อปี2556 พบว่า จำนวนผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งสิ้น 10.49 ล้านแบบ ในจำนวนนี้มีแบบแสดงรายการภาษีที่มีภาระภาษีเพียง 3.63 ล้านแบบ คิดเป็น 34.65 %
และเมื่อแยกตามช่วงเงินได้ พบว่า มีผู้ยื่นแบบที่อยู่ในช่วงเงินได้ 150,000 บาทแรก ที่ได้รับการยกเว้นภาษี มีจำนวนสูงถึง 6.53 ล้านราย ส่วนช่วงเงินได้ตั้งแต่ 150,001 บาทแต่ไม่ถึง 300,000 บาท เป็นช่วงเงินได้ที่มีจำนวนรายของคนเสียภาษีมากสุด คือ 1.63 ล้านราย ส่วนช่วงเงินได้ตั้งแต่ 4,000,001 บาทขึ้นไป (เสียภาษีอัตราสูงสุด 35%) เป็นช่วงเงินได้ ที่มีจำนวนรายน้อยสุด คือ 24,700 ราย แต่คิดเป็นเม็ดเงินสูงกว่าคนกลุ่มอื่นๆ
ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น จากตัวเลขในปี 2557 พบว่า จำนวนผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล มีจำนวน 501,000 ราย ในจำนวนนี้ มีนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีเงินได้ 310,000 ราย คิดเป็น 62.1 %
ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า สิ่งที่เรากำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้คือ ประชาชนที่มีรายได้ระดับไหน สมควรที่จะเสียภาษี และระดับไหน ไม่ควรเสียภาษี หากประเทศไทยต้องการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน โดยมาเลเซียอยู่ที่จัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลที่ระดับ 25% ขณะที่ สิงคโปร์อยู่ที่ 20%
นอกจากนี้ สศค. ยังมีความต้องการที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางภาษีอีกด้วย เพราะปัจจุบันภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะได้รับการยกเว้นภาษี กรณีรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทแรก เมื่อรวมกับสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ส่วนตัวได้ 60,000บาท และค่าลดหย่อนส่วนตัวอีก 30,000 บาท รวมเป็น 240,000 บาท หมายความว่า คนที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 20,000 บาท จะไม่มีภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ขณะที่กรณีที่เป็นนิติบุคคล ที่จดทะเบียนเป็นเอสเอ็มอี จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิที่ไม่เกิน 300,000 บาท ส่วนที่เกินกว่าเสียภาษีในอัตรา 15% แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ส่วนที่เกินกว่า 1 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 20%
นายกฤษฎา กล่าวว่า การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ 150,000 บาทแรกนั้น สศค.อาจไม่เข้าไปปรับให้สูงขึ้น แต่อาจพิจารณาในเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่นำมาหักออกจากเงินได้ ที่ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 40% แต่ไม่เกิน 60,000 บาท/คน/ปี ซึ่งอัตรานี้กำหนดมานานแล้ว ปรับขึ้นไปสู่ระดับ 120,000 บาท เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ และค่าครองชีพก็เปลี่ยนไปมากจากในอดีต
สศค. กำลังคำนวณว่า รายได้ในระดับใดที่ถือว่า เป็นรายได้ที่พอยังชีพของคนชั้นกลาง และยังไม่ถึงระดับที่ควรมีภาระภาษี ทั้งนี้หากคนมีรายได้ไม่เกิน 20,000 บาท ไม่มีภาระภาษี หากมีการปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลให้สูงขึ้น เช่น เป็น 100,000 บาท/คน/ปี ก็จะทำให้รายได้ ที่ได้รับการยกเว้นภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 280,000 บาท (150,000 บาทแรกที่ยกเว้น บวกด้วย ค่าใช้จ่าย 100,000 บาท บวกด้วยค่าลดหย่อนส่วนตัว 30,000 บาท) ก็เท่ากับขยับรายได้ของมนุษย์เงินได้ ที่มีรายได้ขั้นต่ำต่อเดือนที่ไม่มีภาระภาษี เป็น ประมาณ 23,000 บาท
แต่หากเพิ่มค่าใช้เป็น 120,000 บาท/ปี/คน และเพิ่มการยกเว้นภาษี 150,000 บาท ขึ้นไปเป็น 200,000 บาท ก็จะทำให้คนที่มีรายได้ประมาณ 25,000-26,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี คำถามที่ตามว่า คนที่มีรายได้เดือนละ 25,000 บาท สมควรที่จะเสียภาษีหรือไม่ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ กรมสรรพากร และ สศค. ต้องหารือร่วมกันก่อนที่จะสรุป และเสนอให้ รมว.คลัง ตัดสินใจ
แต่ความเห็นส่วนคิด ควรลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บสูงสุด 35% ลดลงเหลือ 28-30% หรือลดลงมาให้อยู่กับระดับใกล้เคียงกับสิงคโปร์คือ 20% เพราะในปีหน้า ไทยก็กว้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (เออีซี) หากต้องการดึงดูดแรงงานที่มีขาดแคลน เช่น วิศวกร หรือที่ปรึกษาทางการเงิน เข้านั่งทำงานในประเทศไทยมากขึ้น
แต่ก็ยอมรับว่า เรื่องนี้อาจจะเป็นประเด็นใหญ่ในอนาคต เพราะจะมีคนมองว่า กระทรวงการคลังลดอัตราภาษีให้แก่คนร่ำรวยก็เป็นไปได้.