คลังผ่าทางตันดันจีดีพีปีหน้าแตะ3.8%
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในไตรมาส 3 ของปีนี้ เริ่มส่งสัญญาในทิศทางที่ดีขึ้น โดยในเดือนต.ค.58 ซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาส 4 พบว่า รายจ่ายลงทุนมีสูงถึง 23,500 ล้านบาท ขยายตัว 58.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน โดย สศค.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 จะมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในปีนี้
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดมานานแล้ว ตั้งแต่ต้นปี58 ที่ผ่านมา แต่สาเหตุที่ภาวะเศรษฐกิจซึมตัว เพราะขาดแรงกระตุ้นจากภาครัฐ ขณะที่รายได้ของเกษตรกรลดลงเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและปัญหาภัยแล้ง
“จีดีพีปี57 ขยายตัวเพียง 0.9% แต่พอขึ้นปีใหม่ ปี2558 จีดีพีไตรมาสแรก ขยายตัว 3% ไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 2.8% และล่าสุดไตรมาสที่ 3 สภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.9% จึงมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 นี้ จะเติบโตมากกว่า 2.9% ซึ่งจะส่งผลให้ตลอดทั้งปีนี้ มีโอกาสเติบโตได้ 3% จากที่เราคาดการณ์ว่า จะเติบโตที่ 2.8%” ผู้อำนวยการ สศค.กล่าว
“แสดงให้เห็นว่า มาตรกากระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เริ่มส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะงบลงทุนที่มีการเบิกจ่ายสูงถึง 58.7% ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นการส่งสัญญาที่ดีจากนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า”
สำหรับมาตรการของรัฐบาล ภายใต้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เข้ามารับตำ แหน่งเมื่อเดือนก.ย. จนถึงวันที่ 23 พ.ย.58 ประกอบด้วย 1. มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย และมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล มีเป้าหมายเพื่อกระจายการลงทุน การจ้างงาน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปในพื้นที่ต่างๆ ในต่างจังหวัดและผลักดันให้เกิดการพัฒนาในท้องถิ่นและภูมิภาคอย่างทั่วถึงเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและบรรเทาผลกระทบในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเร่งการลงทุนภาครัฐ
ประกอบด้วย 1.1 มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับหมู่บ้าน (สินเชื่อผ่านกองทุนหมู่บ้าน ดอกเบี้ย 0% วงเงินสินเชื่อ 60,000 ล้านบาท) โดยข้อมูลล่าสุดธนาคารออมสิน อนุมัติสินเชื่อแล้ว 22,450 ล้านบาทให้กับกองทุนหมู่บ้าน 22,492 แห่ง และกองทุนหมู่บ้านให้สินเชื่อกับผู้มีรายได้น้อยแล้ว 1,288,022 ราย เป็นเงิน 19,158 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) อนุมัติสินเชื่อแล้ว 20,226 ล้านบาท ให้กับกองทุนหมู่บ้าน 20,739 แห่งและกองทุนหมู่บ้านให้สินเชื่อกับผู้มีรายได้น้อยแล้ว 1,264,124 ราย เป็นเงิน 20,226 ล้านบาท
1.2 มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับตำบล (ลงทุนตำบลละไม่เกิน 5 ล้านบาท วงเงิน 37,913 ล้านบาท) ล่าสุดสำนักงบประมาณโดยสำนักจัดทำงบประมาณเขตพื้นที่ฯ ทยอยพิจารณาอนุมัติรายละเอียดโครงการและค่าใช้จ่ายประกอบการจัดสรรงบประมาณแล้ว จำนวน 100,958 โครงการ วงเงินรวม 30,893 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 81.5% ของวงเงินรวม)
1.3 มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล ลงทุนหน่วยงานละไม่เกิน 1 ล้านบาท กรอบวงเงิน 24,000 ล้านบาท
เฉพาะงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ของปีงบประมาณ 2558 โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติวงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 23,343.4 ล้านบาท ได้รับการจัดสรรแล้ว 55,233 โครงการ วงเงินจัดสรร 22,731 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 1,035 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.6% ของวงเงินจัดสรร
2. มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)ในระยะเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนธุรกิจSMEs ให้สามารถแข่งขันได้ โดยมีความคืบหน้า ดังนี้
2.1.โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs (Soft Loan SMEs ดอกเบี้ย 4% ระยะเวลา 7 ปี วงเงินสินเชื่อ 100,000 ล้านบาท) โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พ.ย.58 ธนาคารออมสิน มียอดอนุมัติสินเชื่อแล้วจำนวน 68,665 ล้านบาท ให้กับลูกค้า SMEs แล้ว 8,036 ราย
2.2 โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 5 ปรับปรุงใหม่ (ค้ำประกันไม่เกิน 30% ต่อพอร์ต วงเงินค้ำประกัน 100,000 ล้านบาท) โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 23 .ย.58 บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีการค้ำประกันสินเชื่อแล้วจำนวน 21,243 ล้านบาท ให้กับ SMEs จำนวน 5,360 ราย
3. มาตรการการเงินการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งในส่วนของมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง นั้น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดรับคำขอตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค.58 โดยข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พ.ย.58 มีผู้ยื่นขอสินเชื่อแล้ว 11,552 ราย วงเงินสินเชื่อประมาณ 15,298 ล้านบาท โดย ธอส. ได้อนุมัติสินเชื่อแล้ว 903 ราย วงเงินอนุมัติ 1,070 ล้านบาท
“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลคือ ปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในเดือนต.ค.ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น สังเกตได้จาก ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 62.2 ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จัดเก็บบนฐานการใช้จ่ายภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ขยายตัวได้ที่ 4.8%” ผู้อำนวยการ สศค.กล่าว และกล่าวว่า
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่กลับมาหดตัว -4.1% ต่อปี โดยมีผลมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า ณ ราคาคงที่ซึ่งหดตัวต่อเนื่องที่ -15.3% ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัว -6.5% ต่อปี จากการหดตัวของปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเขตภูมิภาคเป็นหลัก จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนในเดือน ต.ค.58 มีสัญญาณทรงตัว โดยหมวดการก่อสร้างสะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์แม้จะ -4.6% แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลพบว่า ขยายตัวได้ 0.2% ขณะที่ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวที่ -0.3% สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องที่ -6.5% ขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัว 5.4% ต่อปี
สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนต.ค.58 สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวในระดับสูงและดุลงบประมาณที่ขาดดุล ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณโดยรวมของรัฐบาลในเดือนต.ค.58 มีจำนวน 374,200 ล้านบาท ขยายตัว 1.8% ต่อปี โดยรายจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 359,600 ล้านบาท ขยายตัว 4.3% ต่อปี แบ่งออกเป็น รายจ่ายประจำ 336,100 ล้านบาท ขยายตัว 1.8% ต่อปี และรายจ่ายลงทุน 23,500 ล้านบาท ขยายตัว 58.7% ต่อปี
ด้าน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ระบุ ภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจว่า “จากมาตรการทั้งหมดที่ออกมาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้า ขยายตัวได้มากกว่าในปีนี้อย่างแน่นอน โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้า จะขยายตัวได้ 3.8% ของจีดีพี”
และจากการติดตามมาตรการกระตุ้นต่างๆ ที่รัฐบาลได้ออกมาก่อนหน้านี้ พบว่ามีการคืบหน้าเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการลง ทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในปีนี้ จะมีการลงนามในสัญญา 6 โครงการ วงเงินรวม 180,000 ล้านบาท และในปีหน้าจะมีการลงนามสัญญา 20 โครงการ วงเงินรวม 1.6 ล้านล้านบาท ทำให้มั่นใจว่า จะสามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้ โดยคาดว่า เม็ดเงินที่จะไหลเข้าระบบในปีหน้ามีประมาณ 140,000 ล้านบาท ปี 2560 จะมีประมาณ 300,000 ล้านบาท และปี 2561 อีกเงิน 400,000 ล้านบาท .