ยอดสินเชื่อเดือนต.ค.ชะลอตัว
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2019/05/lo-1.jpg)
ยอดสินเชื่อเดือนต.ค.58 ชะลอตัวลง แต่เงินฝากปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้เงินฝากที่เพิ่มขึ้นเป็นเงินฝากของภาครัฐ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่อง ของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนต.ค.2558 (ปรับผลของการรวมธนาคารธนาคารโตเกียวมิตซูบิชิเข้ากับธนาคารกรุงศรีอยุธยา) จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์ และหนี้สิน (ธ.พ.1.1) พร้อมประเมินแนวโน้มในระยะถัดไปไว้ ดังนี้
สินเชื่อปรับลดลง ขณะที่เงินฝากเพิ่มขึ้น จากภาครัฐเป็นหลัก เงินให้สินเชื่อสุทธิ ลดลง 9.84 พันล้านบาท หรือหดตัวลง 0.1% จากเดือนก่อนหน้า ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้ว พบว่า เงินให้สินเชื่อสุทธิขยายตัวชะลอลงมาที่ระดับ 3.55% จากที่ทำได้ในระดับ 3.75% ในเดือนก่อนหน้า โดยการหดตัวนั้นเป็นผลจากการชำระคืนสินเชื่อของกลุ่มสินเชื่อภาคธุรกิจเป็นหลัก ขณะที่สินเชื่อลูกค้ารายย่อยยังเติบโตค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้การชะลอตัวของสินเชื่อเกิดขึ้นทั้งในกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ทั้งนี้หากเทียบกับสิ้นปี 2557 แล้ว พบว่า อัตราการเติบโตขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 1.08 %
เงินฝากเติบโตค่อนข้างดี โดยเพิ่มขึ้น 1.24 แสนล้านบาท หรือ 1.12% ซึ่งส่งผลให้เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2557 แล้ว อัตราการเติบโตของเงินฝากพลิกกลับมาเป็นบวกที่ 1.05% ทั้งนี้ทิศทางการปรับขึ้นของเงินฝากที่ค่อนข้างสูงในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเป็นผลจากการพักเงินของภาครัฐในธนาคารพาณิชย์บางแห่งซึ่งเป็นปัจจัยเฉพาะ ขณะที่ธนาคารขนาดเล็กยังบริหารต้นทุนทางการเงินด้วยการควบคุมปริมาณเงินฝากให้เติบโตช้ากว่าสินเชื่อ
เครื่องชี้สภาพคล่องผ่อนคลายลงจากเดือนก่อนหน้า ตามเงินฝากที่ขยายตัวสูงขึ้น สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์เดือนต.ค.2558 ปรับตัวดีขึ้น อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของเงินฝากภาครัฐ โดยสัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออก และเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ผ่อนคลายลงมาที่ระดับ 85.69% จากระดับ 86.53% ณ สิ้นเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับเครื่องชี้สภาพคล่องอีกตัวหนึ่ง ได้แก่ สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวม ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 20.36% ในเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 21.23% ในเดือนต.ค.2558
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า แนวโน้มเดือนพ.ย.2558- ธ.ค.2558 แม้ในช่วงต้นไตรมาส 4/2558 สินเชื่อยังเติบโตค่อนข้างน่าผิดหวัง แต่เมื่อพิจารณาการเติบโตของสินเชื่อในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2558 แล้ว เชื่อว่ามีโอกาสเติบโตเร่งขึ้นในลักษณะ ท่ามกลางการเบิกใช้สินเชื่อของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะแรงหนุนจากปัจจัยเฉพาะอย่างการประมูลเครือข่ายโทรคมนาคมรอบแรก (คลื่น 1800 MHz) ที่น่าจะพลิกกลับมาเป็นสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ได้ไม่เกิน 20,000 ล้านบาทในช่วงไตรมาส 4/2558 นี้ ขณะที่สินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยน่าจะเติบโตดีขึ้น ทั้งจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และการใช้จ่ายของครัวเรือนที่จะกลับมาเป็นบวกมากขึ้นตามการเข้าสู่ฤดูกาลจับจ่ายใช้สอยท้ายปี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่าคาดการณ์การเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ระดับ 4.0% ยังเป็นอัตราที่เป็นไปได้
ส่วนแนวโน้มเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ มีโอกาสเติบโตได้เชื่องช้ากว่าเงินให้สินเชื่อ ตามการบริหารจัดการต้นทุนของธนาคารพาณิชย์เพื่อประคองส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นทิศทางสภาพคล่องในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2558 จึงมีแนวโน้มตึงตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนต.ค.ที่ผ่านมา
ส่วนปัจจัยสำคัญที่ธนาคารพาณิชย์เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด คงหนีไม่พ้นการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในช่วงกลางเดือนธ.ค.นี้ โดยความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25 bps อาจหมายความถึงจุดเริ่มต้นของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในตลาดโลก และจะส่งผลต่อการบริหารสภาพคล่อง และต้นทุนเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทั้งทางตรง และทางอ้อมในระยะถัดไปได้