ธ.ก.ส.เลิกอุ้มเกษตรกรหนี้เน่า
![](https://aec10news.com/wp-content/uploads/2019/05/th-2.jpg)
ธ.ก.ส.ตัดใจ เลิกอุ้มเกษตรกรที่มีปัญหาสะสม และเป็นเอ็นพีแอลมาอย่างยาวนาน ตามคำแนะนำของ ธปท. เพื่อให้ธนาคารมีเสถียรภาพมากขึ้น
“ธ.ก.ส.จะเข้าไปแก้ไขหนี้ของเกษตรกรเป็นรายบุคคล เพื่อหยุดยั้งเอ็นพีแอล และหากเกษตรกรรายใดไม่ประสงค์ที่จะประกอบอาชีพดั้งเดิมต่อไป ธ.ก.ส. ก็จะนำลูกค้ารายนั้น เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้าง” นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าว และกล่าวว่า
ในปีบัญชี ธ.ก.ส. ที่เริ่มต้นในเดือนเม.ย. และสิ้นสุดในเดือนมี.ค.ของทุกปีนั้น เราพบว่า ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเม.ย.58 อยู่ที่ 3% ของยอดสินเชื่อคงค้าง เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5% เมื่อกลางปีนี้ และล่าสุดในเดือนพ.ย. ขึ้นแตะ 6.2% โดยมีสาเหตุหลักมาจากรายได้ของเกษตรกรลดลง
นายลักษณ์ กล่าวว่า ปีนี้ เป็นปีแล้ว ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาตรวจสอบการดำเนินกิจการของธนาคารตามข้อตกลงระหว่างกระทรวงการคลังกับ ธปท. ได้ประมาณ 6 เดือน พบว่า การแก้ไขหนี้ของสาขามีประสิทธิ์ภาพไม่เท่ากัน บางสาขามีความรู้ ความสามารถสูงก็สามารถแก้ไขหนี้ให้ลดลงได้อย่างรวดเร็ว
“แต่บางสาขาแก้ไขหนี้เป็นไปด้วยความล่าช้า แม้ว่า ธ.ก.ส. จะมีคู่มือในการปฏิบัติเหมือนกันทั้งประเทศ แต่สุดท้ายแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับความรอบรู้ และความเก่งของแต่ละสาขาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ” นายลักษณ์ กล่าว
ซึ่งจากการหารือเบื้องต้น ธปท.แนะนำให้ ธ.ก.ส. เข้าไปแก้ไขหนี้เป็นรายบุคคล เพื่อติดตาม และสอบถามความต้องการของลูกหนี้ จากเดิมที่เรามองว่าลูกหนี้ต้องการความช่วยเหลือตลอดเวลา ทำให้ยอดหนี้เก่าสะสมเพิ่มมากขึ้นเมื่อได้รับสินเชื่อก้อนใหม่ จนทำให้เอ็นพีแอลเพิ่มพูนมากขึ้น
“และเมื่อเศรษฐกิจขาขึ้น เกษตรกรก็ก่อหนี้เพิ่มมากขึ้น แต่ภาระการผ่อนส่งยังไม่หมดไป เมื่อเศรษฐกิจอยู่ขาลง ทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้น” นายลักษณ์ กล่าว
นายลักษณ์ กล่าวว่า ในรอบนี้ ธ.ก.ส. มีความจำเป็นต้องจำแนกหนี้เสียออกจากบัญชี หรือตัดหนี้เสียทิ้ง ตามที่ ธปท. แนะนำ เพราะที่ผ่านมา เราดูแลลูกหนี้แบบประคบประหงม แม้จะเป็นลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ไม่ดี แต่พอมีทางรอดเราก็ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม เพื่อให้โอกาสแก่เกษตรกรอีกครั้ง
นายลักษณ์ กล่าวว่า การตัดหนี้สูญของ ธ.ก.ส.ในครั้งนี้ จะทำให้เอ็นพีแอลลดลงมาอยู่ที่ 3% หรือประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับมาตรฐานของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป และยังไม่กระทบต่อฐานะการเงินของธนาคาร เนื่องจากปัจจุบัน ธนาคารได้สำรองหนี้สงสัยจะสูญถึง 300%
ซึ่งประเด็นนี้ หากมองในแง่ของธนาคารแล้ว น่าจะเป็นเรื่องที่ดีเพราะสามารถแก้ไขหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากมองในระดับนโยบายแล้ว กระทรวงการคลังต้องการให้ ธ.ก.ส.เข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้เน่านี้ อย่างเต็มที่ เพราะมีเกษตรกรเพียงส่วนน้อยที่มีปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และรายได้ที่ลดลง จึงต้องหันไปเงินกู้นอกระบบ และเสียดอกเบี้ยในอัตราที่แพงมากๆ รมว.คลัง จึงสั่งให้ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน เข้าไปดูแลหนี้เหล่านี้ ด้วยการให้คำแนะนำ และเป็นพี่เลี้ยงทางด้านเงิน โดยรวมมือกับ ธปท.ซึ่งคาดว่า ในปีนี้จะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการนี้ ประมาณ 31,000 คน