คลังผ่อนเกณฑ์นาโนไฟแนนซ์
คลังปรับเกณฑ์นาโนไฟแนนซ์ หลังเปิดตัวไปแล้ว 6 เดือน ยอดปล่อยกู้เพียง 81 ล้านบาท จากการอนุมัติไลน์เส้นทั้งหมด 21 ใบ โดยจะลดทุนจดทะเบียนจาก 50 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ และมีขนาดเล็กในต่างจังหวัดมีโอกาสทำธุรกิจนาโนไฟแนนซ์มากขึ้น
กระทรวงการคลังจำเป็นต้องปรับแผนการทำธุรกิจของนาโนไฟแนนซ์ หลังจากเริ่มเปิดตัวครั้งแรกในเดือนพ.ค.จนถึงเดือนต.ค.58 พบว่า มียอดการปล่อยสินเชื่อเพียง 81 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 4,300 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ ประมาณ 70 ล้านบาท มาจากปล่อยกู้ของบริษัท เมืองไทยลิสซิ่ง
ปัจจุบันกระทรวงการคลังได้อนุมัติผู้ประกอบการดำเนินกิจการนาโนไฟแนนซ์ ไปแล้ว 21 ใบ ซึ่งในจำนวนนี้ เกือบทั้งหมดเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีบริษัทแม่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ในจำนวนนี้มีเพียง 6 ราย ที่ดำเนินธุรกิจได้จริง เนื่องจากกระทรวงการคลังกำหนดว่า ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินธุรกิจภายใน 1 ปี นับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต
สำหรับสาเหตุที่สินเชื่อนาโนแนนซ์เติบโตได้ช้า เพราะบริษัท ศรีสวัสดิ์ ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการสินเชื่อส่วนบุคคล เพิ่งจะเริ่มปล่อยสินเชื่อเมื่อต้นเดือนพ.ย.นี้เอง แต่กระทรวงการคลังก็มีความมั่นใจว่า ยอดสินเชื่อนาโน ณ ปลายปีนี้ จะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และนับจากปีหน้าเป็นต้นไป คาดว่ายอดสินเชื่อนาโนในแต่ละเดือน จะไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการปลดล็อกให้แก่กิจการนาโนไฟแนนซ์ กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขใบอนุญาตนาโนไฟแนนซ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยในท้องถิ่น เข้าสู่ธุรกิจนี้ได้ง่ายขึ้น โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มผู้ประกอบการรายย่อยในระดับท้องถิ่นให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจนี้มากขึ้น
โดยมีแนวคิดที่จะผ่อนปรนในเรื่องเงื่อนไขของทุนจดทะเบียน ที่ปัจจุบันกำหนดขั้นต่ำที่ 50 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขว่า กิจการนาโนไฟแนนซ์ จะปล่อยสินเชื่อโดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี และไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขณะที่ผู้กู้จะได้รับวงเงินสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย
แต่ก็มีผู้ประกอบการบางรายต้องการผ่อนปรนเงื่อนไข เช่น ขอเก็บอัตราดอกเบี้ยที่แพงกว่า 36% ต่อปี ขอหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่ม เป็นต้น ทางประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ถูกตีตกไปเพราะกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย เนื่องจากทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว คือเจตนาของกฎหมายในการดำเนินธุรกิจนาโนไฟแนนซ์