สศอ.ลดเป้า MPI – GDP ภาคอุตฯเหลือ 0–1%
สศอ.ปรับประมาณการณ์ตัวเลขการเติบโต MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 2562 จากร้อยละ 2-3 เหลือร้อยละ 0.0 – 1.0 หวัง 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินกว่า 300,000 ล้านบาท ดันเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือขยายตัวเพิ่มขึ้น
นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ 100.07 หดลงตัวร้อยละ 3.23 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนกรกฎาคม 2562 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์ยาง และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง ยกเว้นน้ำมันปิโตรเลียมที่มีการซ่อมบำรุงโรงกลั่น
ส่งผลทำให้ สศอ.ต้องปรับประมาณการณ์ตัวเลข MPI และผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรม หรือ จีดีพี ภาคอุตสาหกรรมปี 2562 ลงเหลือ 0.0-1.0% จากเดิมคาดการณ์ทั้ง MPI และจีดีพีภาคอุตสาหกรรมปี 2562 ไว้ว่าจะเติบโต 2-3% จากนั้นได้ปรับลดลงเหลือ 1.5-2.5% และการปรับลดครั้งนี้เพราะปัจจัยความเสี่ยงยังคงมีต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามเชื่อว่า 3 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 วงเงิน 316,813 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.มาตรการบรรเทาค่าครองชีพผ่านสวัสดิการแห่งรัฐและกองทุนหมู่บ้าน 2.มาตรการเพื่อบรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งปี 2562 และเกษตรกรรายย่อย และ3.มาตรการเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในประเทศซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ส.ค.นี้จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2562 และปี2563 ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อ MPI ได้แก่ การกลั่นและการผสมสุรา เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน น้ำมันปาล์ม เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์