ส่งออกไทยเหนื่อยลุ้นปีนี้ติดลบ 4%
ในที่สุดกระทรวงพาณิชย์ก็ประกาศตัวเลขส่งออกของในเดือนก.ย.58 ปรากฏว่า มีมูลค่าเพียง 18,815 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่า จะมีมูลค่าแตะ 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อผลักดันยอดส่งออกของไทยตลอดทั้งปีนี้ ติดลบไม่เกิน 2%
กระทรวงพาณิชย์แถลงข่าวมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนก.ย.58 เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การส่งออกในเดือนก.ย.58 มีมูลค่า 18,815.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5.51% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ดีขึ้นกว่าเดือนส.ค. ที่ลดลง 6.69% ซึ่งการแถลงข่าวในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำว่ายอดส่งออกไทยติดลบต่อเดือนเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มูลค่าส่งออกในเดือนก.ย.58 หากคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 5.51% แต่เมื่อทอนกลับมาเป็นค่าเงินบาทแล้ว คิดเป็นมูลค่า 665,587.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.52% ถือว่า เป็นมูลค่าที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเงินบาทเดือนก.ย. อ่อนค่ามาอยู่ที่เฉลี่ย 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะที่การนำเข้าในเดือนก.ย.58 มีมูลค่า 16,021.8 ล้านเหรียญฯ ลดลง 26.20% และเมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 573,178.3 ล้านบาท ลดลง 17.63% ส่งผลให้เดือนก.ย. ไทยเกินดุลการค้า2,794 ล้านเหรียญฯ หรือคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่าเท่ากับ 92,408.8 ล้านบาท
“ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) ปี 58 การส่งออกมีมูลค่ารวม 161,563.2 ล้านเหรียญฯ ลดลง 4.98% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 5.355 ล้านล้านบาท ลดลง 1.92% เพราะในช่วงต้นปี ค่าเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 153,804.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 10.46% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 5.154 ล้านล้านบาท ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า7,758.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกินดุล 201,112.5 ล้านบาท”
กระทรวงพาณิชย์ต้องลุ้นต่อไปในช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ (ต.ค.-ธ.ค.) หากมีมูลค่าเฉลี่ยเดือนละ 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้ยอดการส่งออกตลอดทั้งปี ติดลบน้อยกว่า 4% จากปีก่อน จากเป้าหมายเดิมในครั้งแรกที่ประเมินว่า การส่งออกเป็นบวก แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง ได้ปรับลดประมาณการลงทั้งปีที่ติดลบ 3% และที่สำคัญ หากมูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีมูลค่าเดือนละ 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งปีนี้ การส่งออกขยายตัวติดลบ 5%
“ในปีหน้า เราคาดว่า มูลค่าการส่งออกจะดีขึ้น เพราะเริ่มมีปัจจัยบวก เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ คาดว่า ปีหน้าเศรษฐกิจโลกเติบโตมากกว่า 3% แต่ในปีนี้ น่าจะขยายได้เพียง 3.1% เนื่องจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกยัง คงปรับตัวลดลงต่อเนื่องและยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัว การค้าโลกทั้งปีขยายตัวติดลบ 11.1% เงินบาทแม้จะอ่อนค่าลงแต่เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นที่เป็นคู่แข่งทางการค้า เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ถือว่า เงินบาทอ่อนค่าน้อยกว่ามาก”
สำหรับสินค้าที่มูลค่าการส่งออกลดลงมากคือ สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร ลดลง 9.9% โดยยางพาราลดลง 7.4% ข้าวลด 28.8% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลด 28.6% อาหารทะเลแช่แข็ง และแปรรูป ลด 7.4% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ลดลง 1.9% แต่มูลค่าการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเพิ่มขึ้น 20.6% จากการส่งออกรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้น 144.12% แต่รถกระบะลดลง 24.4% รวมถึงทองคำที่กลับมาส่งออกได้เพิ่มขึ้น 589.5% จากราคาทองคำสูงขึ้น ทำให้มีการส่งออกเพื่อเก็งกำไร
โดยตลาดหลักยังเป็นญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปแต่มีมูลค่าลดลง 6.9% และ 5.6% ตามลำดับ สหรัฐฯ กลับมาส่งออกได้เพิ่มขึ้น 1.1% จากที่ติดลบในเดือนส.ค.58 ที่ 1.9% ตลาดศักยภาพสูง ลดลง 8.4% จากการลดลงของอาเซียนเดิม 5 ประเทศ 20.1% แต่อาเซียนใหม่ (CLMV) ประกอบด้วย ลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา เพิ่มขึ้น 4.7% จีน ลดลง 1.7% อินเดีย ลดลง 12.5% เกาหลีใต้ ลดลง 20.9% และไต้หวัน ลดลง 18.3%, ตลาดศักยภาพระดับรองลดลง 4.1% จากการลดลงของแอฟริกา 23.6% กลุ่ม CIS และรัสเซีย ลด 34.8% แคนาดา ลด 11.4%
“แม้มูลค่าการส่งออกของไทยลดลง แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว ไทยดีกว่ามาก เช่น ในช่วง 8 เดือนปี58” นายสมเกียรติ กล่าว่า เพราะในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ออสเตรเลีย ลดลง 21.8% ฝรั่งเศส ลด 14.3% สิงคโปร์ ลด 14% ญี่ปุ่น ลด 9.2% เกาหลีใต้ ลด 6.4% และสหรัฐฯ ลด 6.1% ขณะที่จีนจากเดิมขยายตัวมาโดยตลอด กลับติดลบ 1.4% ฮ่องกงลดลง 2.2% ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดส่งออกของไทยในประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย โดยในช่วง 8 เดือนปีนี้เทียบกับช่วงเดียว กันปีก่อน ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 3.18% จาก 2.68% สหรัฐฯ เพิ่ม 1.26% จาก 1.16% สหภาพยุโรป (27 ประเทศ) เพิ่ม 1.11% จาก 1.09% จีน เพิ่ม 2.31% จาก 1.95% อินเดีย เพิ่ม 1.47% จาก 1.23% รัสเซีย เพิ่ม 0.79% จาก 0.78% เป็นต้น