สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 11 ก.ค. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.น่าน (148 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.สุรินทร์ (64 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (29 มม.) ภาคกลาง : จ.กรุงเทพมหานคร (18 มม.) ภาคตะวันออก : จ.ตราด (197 มม.) ภาคใต้ : จ.ระนอง (88 มม.)
วันนี้ : วันนี้ : หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออก
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 14 – 16 ก.ค. 68 ประเทศไทยจะยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านประเทศเมียนมาตอนบนและประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ
บริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 57% ของความจุเก็บกัก (45,963 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 38% (21,847 ล้าน ลบ.ม.)
3. ข่าวประชาสัมพันธ์ : เมื่อวันที่ 8 – 9 ก.ค. 68”ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมประชุมระดับภูมิภาค เรื่อง การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วม (JAP) ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ปากลาย และหลวงพระบาง สปป.ลาว เพื่อติดตามการดำเนินงานตามข้อห่วงกังวลของไทย และรับทราบความก้าวหน้าของการดำเนินการของผู้พัฒนาโครงการฯ ทั้งสามโครงการ รวมถึงปรึกษาหารือและให้ข้อเสนอแนะการดำเนินงานเพิ่มเติม
ในการประชุมครั้งนี้ มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกแม่น้ำโขง (กัมพูชา สปป.ลาว และเวียดนาม) เข้าร่วมด้วย โดยมีผู้แทนจากสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS)”นำเสนอภาพรวมของการดำเนินการตาม JAP”ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำทั้งสามโครงการ และผู้พัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำแต่ละรายได้นำเสนอภาพรวมความก้าวหน้าและสถานะปัจจุบันของแต่ละโครงการ รวมถึงการศึกษาทบทวน ปรับปรุงแก้ไขการออกแบบโครงการฯ ให้สอดคล้องตามข้อห่วงกังวลและข้อเสนอแนะของประเทศสมาชิกที่กำหนดไว้ตาม JAP
เลขาธิการ สทนช. ได้เน้นย้ำข้อห่วงกังวลของประเทศไทย โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบข้ามพรมแดนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของแต่ละโครงการ โดยมีความเห็นสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญจาก MRCS”ที่ได้ให้ข้อคิดเห็นเชิงเทคนิคในการดำเนินงานตาม JAP นอกจากนี้ ยังได้เสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ได้แก่ การศึกษาในประเด็นด้านอุทกวิทยา ด้านคุณภาพน้ำและตะกอน รวมถึงทางปลาผ่าน ช่องทางการเดินเรือให้เป็นไปตามมาตรฐานและแนวทางที่ MRCS”กำหนดไว้ และการบริหาร จัดการน้ำของเขื่อนในแม่น้ำโขงในรูปแบบเขื่อนขั้นบันได ซึ่งจะต้องมีการประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลในการบริหารจัดการร่วมกัน เพื่อลดผลกระทบแบบสะสมร่วมด้วย ทั้งนี้ ได้เสนอให้ผู้พัฒนาโครงการฯ โดยเฉพาะโครงการเขื่อนปากแบง ให้พิจารณาประเด็นเรื่องคุณภาพน้ำที่เกี่ยวข้องกับสารปนเปื้อนในน้ำ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งมีชีวิตในน้ำ รวมถึงเสนอให้พิจารณาประเด็นความปลอดภัยของเขื่อน จากกรณีแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นช่วงต้นปี 2568 และมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอีกบ่อยครั้งและมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
การดำเนินการในลำดับถัดไป MRCS จะทำงานร่วมกับคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาวและผู้พัฒนาโครงการฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับปรุงรายงานการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน แบ่งปันข้อมูลอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ และดำเนินการหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับการติดตามตรวจสอบผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมร่วมกัน รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลผ่านระบบฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อการบริหารจัดการร่วมกันต่อไปในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 10 ก.ค. 68