หอการค้าไทย-จีน คาดปีนี้ จีดีพีไทยขยายตัว 1.5-1.8%

นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยจีนประจำไตรมาสที่สาม ปี 2568 ซึ่งได้มีการสำรวจระหว่างวันที่ 15 ถึง 20 มิถุนายน 2568 ผู้ให้ข้อมูลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยจีนประกอบด้วย (1) ประธานคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการหอการค้าไทยจีน (2) ประธานและกรรมการสมาชิกสมาคมต่างๆของสหพันธ์หอการค้าไทยจีน และ (3) กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ของหอการค้าไทยจีน รวมทั้งสิ้น จำนวน 480 คน
ประธานาธิบดีทรัมป์ ในประกาศขึ้นอัตราภาษีศุลกากรในวันที่ 2 เมษายน 2568 กับทุกประเทศทั่วโลกและมีเป้าหมายหลักคือจีน ได้สร้างความตระหนกให้กับผู้ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา และโอกาสที่สินค้าจีนที่ส่งไปขายสหรัฐอเมริกาไม่ได้นั้นอาจจะถูกระบายมาขายที่ไทย แต่ประธานาธิบดีทรัมป์ยังเปิดช่วงเวลาการเจรจาให้กับประเทศคู่ค้าเป็นระยะเวลา 90 วัน จนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ขณะที่การเก็บข้อมูลสำรวจดัชนีในครั้งนี้อยู่ในช่วงก่อนที่จะครบ 90 วัน ซึ่งโอกาสที่การเจรจาจะสิ้นสุดกับทุกคู่ประเทศไม่น่าเป็นไปได้

จากการสำรวจความคิดเห็นเมื่อเปรียบเทียบผลกระทบต่อการค้าขาย ระหว่างมาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีทรัมป์ และสถานการณ์วิกฤตการณ์โรคระบาด โควิด-19 ผู้ตอบแบบสำรวจร้อยละ 39 มีความเห็นว่ามาตรการของประธานาธิบดีทรัมป์มีผลกระทบรุนแรงมากกว่าช่วงโควิด-19 พอสมควร แต่ร้อยละ 26 มีความเห็นว่ามาตรการภาษีดักล่าวมีผลกระทบรุนแรงมากกว่าช่วงโควิด-19 เป็นอย่างมาก กล่าวได้ว่าผลกระทบต่อการค้าขายจากนโยบายทรัมป์จะลำบากมากกว่าช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 การสำรวจยังได้สอบถามต่อว่าธุรกิจของสมาชิกหอการค้าไทยจีนและสหพันธ์หอการค้าไทยจีนนั้นได้รับผลกระทบจากนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์มากหรือน้อยเพียงใด ผลการสำรวจพบว่า 45% ลงความเห็นว่าได้มีผลกระทบเกิดขึ้นแล้วและทำให้การค้าขายชะลอตัวมาก ในขณะที่ 36% ให้ความเห็นว่ามีผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วต่อการค้าขายชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้มีร้อยละ 8 ที่ให้ความเห็นว่าเป็นโอกาสทำให้การค้าขายนั้นดีขึ้น
ประธานาธิบดีทรัมป์เดิม ได้ประกาศว่าจะขึ้นภาษีศุลกากร 37% และ 145% กับไทยและจีนตามลำดับ หลังจากมีการเจรจาในเบื้องต้นในกรอบระยะเวลา 90 วัน สหรัฐอเมริกาได้ประกาศว่าจะเก็บภาษีจากจีน 55% และจีนเก็บภาษีจากสหรัฐอเมริกา 10% ในขณะที่ไทยนั้นอยู่ในขั้นตอนการเจรจา ผลการสำรวจความคิดเห็นของการเจรจามีดังนี้ ร้อยละ 22 คาดว่าอัตราภาษีจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ในอัตราที่น้อยกว่าที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศไว้เบี้องต้นตั้งแต่เมษายน 2568 เนื่องมาจากแรงกดดันจากผู้บริโภคและผู้ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกา 15% ของผู้ตอบแบบสำรวจให้ความเห็นว่าการเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนตามมาตราที่ได้ประกาศไปนั้นจะเป็นข้อตกลงที่สิ้นสุดแล้ว และผู้ตอบแบบสำรวจ 14% ลงความเห็นว่าการเจรจากับประเทศส่วนใหญ่จะยืดเยื้อและยาวนานกว่า 90 วันและต้องขยายระยะเวลาการเจรจาออกไปอีก (ในวันที่ 3 กรกฎาคม ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่ามีข้อตกลงที่เป็นที่สิ้นสุดกับเวียดนาม โดยเก็บภาษีศุลกากรจากเวียดนาม 20% ในขณะที่เวียดนามจะไม่เก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา)
จาก 5 มาตรการที่คาดว่าไทยจะไปเสนอเพื่อเจรจากับสหรัฐอเมริกานั้น ผู้ตอบแบบสำรวจให้ความสำคัญ กับ 3 มาตรการที่จะมีประโยชน์มากที่สุดสำหรับเศรษฐกิจไทย กล่าวคือ การลดภาษีศุลกากรและมาตรการที่ไม่ใช่ศุลกากรพร้อมกับการเปิดตลาดสาขาเกษตรของไทยให้มีการนำเข้าอาทิ ถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาเป็นลำดับแรก และลำดับรองอีกคือ การบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ของประเทศที่สามเพื่อส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐอเมริกา และการเพิ่มการนำเข้าสินค้าพลังงาน เครื่องบิน และส่วนประกอบและอุปกรณ์
ในส่วนของผลกระทบจากการขึ้นภาษีศุลกากรนั้น ผู้ตอบแบบสำรวจคาดว่าอุตสาหกรรมของไทยที่จะได้รับผลกระทบทางลบจากการขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกาตามลำดับความรุนแรงจะประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปและสินค้าประมง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และอุตสาหกรรมพลังงาน
สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนและมาตรการการขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกาอเมริกา มีผลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกที่ไม่ดีอยู่แล้วและอาจจะยิ่งแย่ลงอีก ก่อให้เกิดความกังวลที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหลายด้าน จากการสำรวจประเด็น 3 เรื่องแรกที่กังวลคือ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ลดลงไปจนถึงปลายปี 2568 ซึ่งเป็นที่น่ากังวลมากที่สุดเพราะรายได้ที่จะพยุงเศรษฐกิจขาดหายไป ในประเด็นต่อมาคือ สินค้าจีนที่ขายยังสหรัฐอเมริกาไม่ได้จะถูกระบายมายังไทยและรวมถึงแย่งสัดส่วนการตลาดต่างประเทศที่ไทยส่งออก และประเด็นที่ไทยจะถูกเพ่งเล็งจากสหรัฐอเมริกาหากจีนได้อาศัยไทยเป็นฐานการผลิตในการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา
เนื่องด้วยการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอดแต่ในปี 2568 ข้อมูลทางสถิติ 5 เดือนแรก พบว่านักท่องเที่ยวชาวจีนมีจำนวนลดลงถึง 32.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2567 เหลือเพียง 1.95 ล้านคน ขณะที่ในช่วงหกเดือนสุดท้ายของปี 2567 นักท่องเที่ยวจีนเยือนประเทศไทยมีจำนวน 3.3 ล้านคน 54% ของผู้ตอบแบบสำรวจ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในหกเดือนสุดท้ายของปี 2568 จะมีน้อยกว่าหกเดือนสุดท้ายของปี 2567 แต่ยังมี 39% ที่คิดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวหกเดือนสุดท้ายของปีนี้น่าจะอยู่ประมาณเดียวกันกับหกเดือนสุดท้ายของปี 2567
จากสถานการณ์โดยรวมทั้งหมดที่แนวโน้มนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศหลักจะชะลอตัวลง การส่งออกในครึ่งปีหลังยังเป็นที่น่ากังวล ประกอบกับสถานการณ์รวมเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังไม่สดใส 52% ของผู้ตอบแบบสำรวจ คาดว่าอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในช่วง 1.5% ถึง 1.8% และ 26.5% คาดว่าอัตราการเจริญเติบโตจะต่ำกว่า 1.5% กล่าวได้ว่า 78.5% คาดว่าอัตราเจริญเติบโตจะต่ำกว่า 1.8%
ผู้ตอบแบบสำรวจได้มีข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาลไทยเป็นหลัก สอง มาตรการ คือ (1) เร่งนำมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อบรรเทาสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มจะชะลอตัว และ (2) มาตรการหาตลาดใหม่เพื่อการส่งออก และยังให้ความสำคัญกับการผลักดันเร่งเจรจากับสหรัฐอเมริกาให้ประสบความสำเร็จโดยเร็ว และมาตรการลดต้นทุนทางด้านการเงินและมาตรการการพยุงราคาสินค้า
นอกจากนี้ นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การค้าระหว่างประเทศของไทยและจีน ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 (มกราคม -พฤษภาคม) ขยายตัว 18.69% มีมูลค่าการค้ารวม 1.953 ล้านล้านบาท การส่งออกของไทยไปจีน ขยายตัว 10.45% และการนำเข้าจากจีน ขยายตัว 22.52% โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า มูลค่า 0.799 ]ล้านล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : หอการค้าไทย-จีน หวั่นสงครามการค้ากระเศรษฐกิจโลก