กรมศุลฯ จับหูฉลามผิดกฎหมาย CITES

กรมศุลกากรตรวจยึดครีบปลาฉลาม จำนวน 402 ชิ้น มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังมอบนโยบายให้กรมศุลกากรเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบ การหลีกเลี่ยงนำเข้า – ส่งออก ซึ่งสินค้าที่มีภาระค่าภาษีอากร ของผิดกฎหมาย ของต้องห้าม และของต้องกำกัด นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากรจึงกำชับให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้ามาใน และการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำความผิดตามกฎหมาย
โดยกรมศุลกากรได้รับการประสานข้อมูลการข่าวจากกรมต่อต้านการลักลอบทางศุลกากร สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (The Anti-Smuggling Bureau, General Administration of China Customs: ASB, GACC) ในสังกัดกระทรวงการศุลกากร แจ้งว่า จะมีการส่งสินค้าต้องสงสัยที่อาจจะเข้าข่ายละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) กรมศุลกากรจึงได้เฝ้าระวังสินค้าลักษณะดังกล่าวอย่างเข้มงวด
จนกระทั่งวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม และสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้บูรณาการร่วมกับกรมประมง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกันตรวจยึดหีบห่อสินค้าต้องสงสัย ณ คลังสินค้า เขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีต้นทางจากประเทศตรินิแดดและโตเบโก แวะเปลี่ยนเครื่องที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ปลายทางประเทศไทย โดยสำแดงชนิดสินค้าเป็น “DRY FISH” ผลการตรวจค้นพบ ครีบปลาฉลาม จำนวน 402 ชิ้น น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม ประมาณ 102 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท

โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า กรณีดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “นำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ความผิดฐาน “นำซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ความผิดฐาน “นำเข้าซากสัตว์น้ำหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสัตว์น้ำโดยไม่มีใบรับรองและใบอนุญาต” ตามมาตรา 92 ประกอบมาตรา 158 และมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และความผิดฐาน “นำเข้าของต้องกำกัดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามมาตรา 242 มาตรา 244 และมาตรา 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560
พนักงานศุลกากรจึงได้ยึดซากสัตว์ดังกล่าวไว้เป็นของกลางตามมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 เพื่อนำส่งด่านตรวจประมงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กรมศุลฯ เร่งเครื่องคุมสินค้าสวมสิทธิถิ่นกำเนิดส่งออก