สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 มี.ค. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน กับมีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อน สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น
คาดการณ์ : วันที่ 8 – 12 มี.ค. 68 ความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อนโดยทั่วไป และมีอากาศร้อนจัดในบางพื้นที่ ในขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้บางแห่ง ส่วนลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนอง และจะมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณตอนล่างของภาคใต้
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 66% ของความจุเก็บกัก (53,365 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 50% (29,218 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 5 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ : แม่มอก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ สิรินธร และลำตะคอง ภาคตะวันออก : คลองสียัด
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% จำนวน 53 แห่ง ดังนี้
ภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 26 แห่ง ภาคกลาง 4 แห่ง ภาคตะวันออก 9 แห่ง ภาคตะวันตก 8 แห่ง และภาคใต้ 1 แห่ง โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ
1) วางแผนการบริหารจัดการน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด
2) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วนตลอดฤดูแล้ง
3) สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์การแจ้งเตือน การให้ความช่วยเหลือ ผ่านช่องทางต่าง ๆ
3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (6 มี.ค. 68) นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการจัดทำแพลตฟอร์มรู้รับปรับตัวจากภัยพิบัติด้านน้ำในประเทศไทย (Flood Resilience Enhancement through Platform on Water Resilience and Disaster) ณ โรงแรมอมารี กรุงเทพฯ โดย สทนช. พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานด้านน้ำทั้งในและต่างประเทศ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ JICA ESCAP และสถาบันการศึกษา ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ เพื่อพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะใช้ข้อมูลทางวิชาการ เทคโนโลยี และประสบการณ์ในการคาดการณ์ ประเมินความเสี่ยง การแจ้งเตือนภัย และสร้างความตระหนักรู้ด้านน้ำแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศให้มีความยั่งยืนโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือภายใต้คณะกรรมการไต้ฝุ่น (The Typhoon Committee; TC) ซึ่งมีสมาชิก 14 ประเทศ โดย สทนช. ทำงานร่วมกับศูนย์กลางระหว่างประเทศเพื่อการจัดการความเสี่ยงและภัยจากน้ำ (ICHARM) จากประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ตั้งแต่ปี 2567 ซึ่งดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570)
5. การให้ความช่วยเหลือ : กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 1 เครื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยการสูบน้ำกักเก็บสำรองไว้ใช้สำหรับการผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน จากสระนาฝายช้างไปยังหนองตับเต่า ในพื้นที่บ้านหนองไฮน้อย หมู่ที่ 2 3 6 และ 9 ต.หนองข่า อ.ปทุมราชวงศา จ.อำนาจเจริญ สามารถสูบน้ำได้ 33,600 ลบ.ม. มีผู้ได้รับประโยชน์ จำนวน 4 หมู่บ้าน 998 ครัวเรือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 6 มี.ค. 68