สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 18 ก.พ. 68

1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมถึงฟ้าผ่าที่อาจเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
คาดการณ์ : ในวันที่ 19 – 21 ก.พ. 68 ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นปกคลุมประเทศเวียดลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน จะทำให้มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้นเป็นกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 70% ของความจุเก็บกัก (55,995 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 55% (31,965 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 4 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ลำตะคอง และสิรินธร ภาคตะวันออก : คลองสียัด
3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เป็นลุ่มน้ำแห่งเดียวของประเทศไทยที่มีน้ำทะเลไหลเข้ามาผสมผสาน เนื่องจากบางพื้นที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ทำให้การระบายน้ำ ลงสู่ทะเลในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงทำได้ช้า จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม ส่วนในช่วงฤดูแล้งแหล่งเก็บกักน้ำในหลายพื้นที่มีสภาพตื้นเขิน ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตร รวมทั้งปริมาณน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ชุมชนเมือง สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้แก่ การอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ ในลำน้ำสาขา การจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำ
การปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ และการฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาและได้ตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและสงขลา ดังนี้
วานนี้ (17 ก.พ. 68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ณ ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง พร้อมรับฟังการบริหารจัดการน้ำกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ซึ่่งทะเลน้อยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ (Ramsar site) ในปัจจุบันมีความตื้นเขินและมีวัชพืชจำนวนมาก จึงต้องเร่งดำเนินการกำจัดวัชพืชเพื่อลดความตื้นเขินให้สามารถรองรับน้ำหลาก โดยรัฐบาลจะนำข้อมูลดังกล่าวมาจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาต่อไป
เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 68 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองสงขลา ระยะที่ 1 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 และได้เสนอแนะให้เตรียมการในระหว่างที่การดำเนินการโครงการยังไม่แล้วเสร็จ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางแผนแนวทางป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนในช่วงฤดูฝนปี 2568 เป็นการล่วงหน้า โดยการจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องจักรเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำระหว่างที่โครงการยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จด้วย
5. การเตรียมการรับมือภาวะน้ำแล้ง :
กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบหอยโข่ง จำนวน 1 เครื่อง สูบน้ำจากคลองลำสำลาย ลงสระประปาหมู่บ้าน บริเวณ ต.ตะขบ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้กับประชาชน
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินการสูบน้ำบริเวณ ต.บ้านเดื่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เพื่อเร่งสูบน้ำช่วยเหลือประชาชนและบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 17 ก.พ. 68