บีโอไอ เผย เอฟดีไอ ทะลุ 8 แสนล้าน
บีโอไอ ปลื้มดันเป้าลงทุนทะลุ 1 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบ10 ปี เพิ่มขึ้น 35% จ้างงานคนไทยกว่า 2.1 แสนตำแหน่ง ไทยรับอานิสงส์สงครามการค้าสหรัฐฯ จีน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ แถลงยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนตลอดปี2567 และแนวโน้มปี2568 ว่า ปีที่แล้ว ถือเป็นปีทองแห่งการลงทุนของประเทศไทย โดยมียอดที่นักลงทุนขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยมีมูลค่า 1.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 35% และยังมีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติมากกว่า 3,100 โครงการ เพิ่มขึ้นถึง 40% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังสูงสุดกับตั้งแต่ก่อตั้งบีโอไอ
“ผลพวงความขัดแย้งของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทำให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องรีบปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้เกิดโอกาสการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เพราะทุกคนกลัวเรื่องการกีดกันทางการค้าที่มีจะมีกระทบต่ออุตสาหกรรมของตัวอย่างแน่นอน เช่น จีน ไม่สามารถส่งสินค้าไปขายในสหรัฐฯ ได้ ขณะที่ สินค้าจากสหรัฐฯ ก็ไม่สามารถขายในจีนได้เช่นกัน โอกาสเช่นนี้ จึงตกมาอยู่ที่ประเทศไทย เพราะเรามีความพร้อมและเป็นมิตรกับทุกๆ ประเทศ”
ทั้งนี้ หากรับเฉพาะการลงทุนโดยตรง หรือ เอฟดีไอ จากต่างประเทศต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนไทยโดยตรง พบว่า มีโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุน 2,050 โครงการ เพิ่มขึ้น 51% วงเงินลงทุนรวม 832,114 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% โดยมีข้อน่าสังเกตว่า 5 อันดับแรกที่ลงทุนในไทยสูงสุดคือ สิงคโปร์ 357,540 ล้านบาท 305 โครงการ 2.จีน 174,638 ล้านบาท 810 โครงการ 3.ฮ่องกง 82,266 ล้านบาท 177 โครงการ 4.ไต้หวัน 49,967 ล้านบาท 126 โครงการ และ5.ญี่ปุ่น 49,148 ล้านบาท 271 โครงการ
“การลงทุนสิงคโปร์ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว แต่โครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนนั้น มาจากลงทุนจีนจับมือกับนักลงทุนสิงคโปร์ หรือจีนกับมือสหรัฐฯ หรือยุโรป เพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นจีน หรือสหรัฐฯ แล้วมาลงทุนในไทย เพราะไม่ต้องการให้การผลิตหยุดชะงักจากผลสงครามการค้า”
นายนฤตม์ กล่าวว่า การลงทุนจำนวนกว่า 800,000 ล้านบาทนั้น บีโอไอเชื่อว่า นักลงทุนจะใช้เงินในการลงทุนที่เกิดขึ้นจริงในบ้านเรา หมดภายใน 2 ปี เพราะจากสถิติในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา การลงทุนที่เกี่ยวการใช้เทคโนโลยี่ขั้นสูงเช่น เซมิคอนดักเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ดาต้าเซ็นเตอร์ และบริการคลาวด์ที่รองรับ AI รถ EV และชิ้นส่วนก่อสร้างโรงงานได้อย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะแผงวงจรอิเล็กทรอนิก์ หรือ PCB ถึงขั้นเช่าโรงงานตั้งอุปกรณ์การผลิตและเปิดเดินสายการผลิตก่อน จากเดิมใช้ระยะเวลาก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร นาน 3-4 ปี โดยปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปีนี้ คาดว่า มีการจ้างงานคนไทยมากกว่า 210,000 คน ใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนในไทยกว่า 1 ล้านล้านบาททต่อปี และยังสามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้อีกกว่า 2.6 ล้านล้านบาท
“การลงทุนที่มาก จนทุบสถิติเช่นนี้ เท่ากับเป็นการวางแผนนำประเทศไทยไปสู่อนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจากนี้ไป เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตและนวัตกรรม โดยไทยมีจุดแข็งอยู่ที่ความเป็นกลาง และสามารถอยู่ร่วมได้กับทุกๆ ประเทศได้” นายนฤตม์ กล่าวและกล่าวว่า
สำหรับ กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1.อุตสาหกรรมดิจิทัล 243,308 ล้านบาท 150 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการ Data Center และ Cloud Service โดยบริษัทชั้นนำจากทั้งสหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และไทย เงินลงทุนรวมกว่า 240,000 ล้านบาท นอกจากนี้ จะเป็นกิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล และดิจิทัลคอนเทนต์
2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 231,710 ล้านบาท 407 โครงการ กิจการที่มีการลงทุนสูง เช่น PCB และวัตถุดิบสำหรับ PCB จำนวน 83 โครงการ เงินลงทุนรวม 86,426 ล้านบาท นอกจากนี้ ก็มีโครงการผลิตชิป (Wafer) การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ (IC Design) การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวม การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ
3.อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 102,366 ล้านบาท 309 โครงการ ประกอบด้วยโครงการลงทุนผลิตรถยนต์ EV และ ICE โดยค่ายญี่ปุ่น จีน และยุโรป การผลิตยางล้อรถยนต์ ยางล้ออากาศยาน ระบบอัจฉริยะในรถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ต่าง ๆ
4.อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร 87,646 ล้านบาท 329 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการผลิตอาหาร เครื่องดื่มและสิ่งปรุงแต่งอาหาร กิจการผลิตอาหารสัตว์ กิจการผลิตน้ำมันหรือไขมันจากพืชหรือสัตว์ กิจการผลิตบรรจุภัณฑ์จากผลผลิตหรือเศษวัสดุทางการเกษตร กิจการขยายพันธุ์สัตว์และเลี้ยงสัตว์
5.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 49,061 ล้านบาท 235 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเคมีภัณฑ์ พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ พลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม และบรรจุภัณฑ์ชนิดหลายชั้น
สำหรับแผนงานในปีนี้ (2568) บีโอไอจะเดินหน้าดึงการลงทุนเพื่อสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ แบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ดาต้าเซ็นเตอร์และบริการคลาวด์ เทคโนโลยี AI และดิจิทัลขั้นสูง และเทคโนโลยีชีวภาพ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมและบริการที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง อย่างเกษตรและอาหาร พลังงานสะอาด การแพทย์และสุขภาพ การท่องเที่ยว รวมถึงกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ทั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters) ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้า และศูนย์กลางจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนระหว่างประเทศ โดยยังคงตั้งเป้าหมาย ส่งเสริมการลงทุนให้ได้ 1 ล้านล้านบาท เป็นปีที่ 2 ติดต่อจากเดิมเฉลี่ยส่งเสริมได้ปีละ 600,000 ล้านบาทเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ขุนคลัง นำทัพ บีโอไอ ดึงอุตฯ ไฮเทค จีนลงทุนไทย