สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 10 ม.ค. 68
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีอุณหภูมิลดลงกับมีลมแรง โดยภาคเหนือยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาว ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนมีอากาศเย็น สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น
คาดการณ์ : ในวันที่ 11 – 13 ม.ค. 68 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 77% ของความจุเก็บกัก (61,684 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 65% (37,736 ล้าน ลบ.ม.)
เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 3 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ สิรินธร และลำตะคอง
3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. แผนและผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง :
สทนช. ติดตามผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2567/2568 ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 35 แห่ง ณ วันที่ 9 ม.ค. 68 สรุปได้ดังนี้
1. ทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 31,908 ล้าน ลบ.ม. (67%) ผลการจัดสรรน้ำทั้งฤดู (ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 67 ถึงปัจจุบัน) สะสม 6,508 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 30% (แผนฯ ทั้งฤดู 21,626 ล้าน ลบ.ม.)
2. เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การ 13,039 ล้าน ลบ.ม. (72%) ผลการจัดสรรน้ำทั้งฤดู สะสม 3,079 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 36% (แผนฯ ทั้งฤดู 8,500 ล้าน ลบ.ม.)
3. พื้นที่ EEC (อ่างฯ บางพระ หนองปลาไหล และประแสร์) มีปริมาณน้ำใช้การ 436 ล้าน ลบ.ม. (82%) ผลการจัดสรรน้ำทั้งฤดู สะสม 104 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 23% (แผนฯ ทั้งฤดู 455 ล้าน ลบ.ม.)
ทั้งนี้ขอให้หน่วยงานจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้
5. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (9 ม.ค. 68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต โดยมีข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตขอรับการสนับสนุนเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จากรัฐบาล จำนวน 2 ประเด็น ได้แก่
(1) การจัดการน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค ปัจจุบันปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้น้ำของประชาชนใน จ.ภูเก็ต โดยในระยะสั้นได้ใช้การบริหารจัดการน้ำต้นทุนในพื้นที่แต่อาจจะมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำในอนาคตได้ เนื่องจากการขยายตัวของเมืองและการเพิ่มขึ้นของประชากรในพื้นที่ ทั้งนี้ ในอนาคตขอรับการสนับสนุนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภค – บริโภค ต่อไป
สำหรับการจัดการน้ำเสีย ปัจจุบัน จ.ภูเก็ต มีศักยภาพในการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่เพียง 85,862 ลบ.ม. ต่อวัน ไม่เพียงพอและไม่ครอบคลุมทั้งจังหวัด จังหวัดภูเก็ตจึงร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาสำรวจและออกแบบระบบบำบัดน้ำเสีย จำนวน 10 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาส่วนนี้
(2) การจัดการภัยพิบัติด้านน้ำท่วม ให้ใช้งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการจัดทำโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม คลองท่าเรือ – เกาะแก้ว และคลองนาลึก ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ แก้ไขปัญหาการกัดเซาะริมตลิ่ง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน
สำหรับการจัดการภัยพิบัติด้านดินถล่ม ให้ดำเนินการโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ตและศูนย์ป่าไม้ภูเก็ต เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงเกิดดินโคลนถล่มในพื้นที่ จากการศึกษาพื้นที่เสี่ยงของกรมทรัพยากรธรณี โดยเฉพาะพื้นที่ ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต และ ต.กมลา อ.กะทู้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 9 ม.ค. 68