สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 6 พ.ย. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และสภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ในขณะที่มีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้มีอากาศเย็นในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีลมกระโชกแรงบางแห่งในภาคเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 82% ของความจุเก็บกัก (65,982 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 72% (41,785 ล้าน ลบ.ม.) เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 3 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : น้ำพุง จุฬาภรณ์ และลำตะคอง
3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
4. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ.ฉบับที่ 18/2567 ลงวันที่ 1 พ.ย. 67 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ช่วงวันที่ 2-6 พ.ย. 67 สทนช. ประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง พัทลุงนครศรีธรรมราช และสงขลา ทั้งนี้ควรเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.ระนอง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก รวมทั้งเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณด้านท้ายน้ำบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ คลองบางสะพาน คลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ และแม่น้ำตรัง
5. แนวทางการบริหารน้ำ : เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 67 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้นำคณะตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน-ลำแชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา โดยอ่างเก็บน้ำลำแชะ เป็น 1 ใน 4 อ่างเก็บน้ำหลักของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีศักยภาพในการสำรองน้ำเพื่อสนับสนุนระบบประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขานครราชสีมา และการประปาภายในเขตเทศบาลนครราชสีมา การตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในครั้งนี้ เป็นการเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง หลังจากพบว่า ปีนี้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำสำคัญของจังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำต้นทุนเก็บกักน้อยกว่าทุกๆปีที่ผ่านมา จึงต้องวางแผนการจัดการน้ำล่วงหน้าอย่างรอบคอบมากขึ้น โดยสถานการณ์น้ำของแหล่งน้ำดิบทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ถือว่ามีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยที่ต้องเฝ้าระวัง และวางแผนการจัดการน้ำอย่างเข้มข้น โดยภาพรวมอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ขณะนี้มีปริมาณน้ำเก็บกักประมาณร้อยละ 33 และปริมาณน้ำใช้การประมาณ 28% เท่านั้น จึงจำเป็นต้องขอความร่วมมือให้เกษตรกรทั่วทั้งจังหวัดนครราชสีมา งดการปลูกข้าวนาปรังทั้งหมด เพื่อสงวนน้ำไว้ใช้ในการอุปโภค-บริโภคเป็นหลัก และให้ปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่ผลผลิตจะขาดน้ำ และได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 5 พ.ย. 67