สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 13 ต.ค. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคใต้ : จ.ตรัง (149) ภาคเหนือ : จ.อุทัยธานี (65) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (54) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.นครราชสีมา (53) ภาคตะวันออก : จ.ปราจีนบุรี (45) และ ภาคกลาง : สมุทรสาคร (40)
สภาพอากาศวันนี้ : ลมตะวันออก และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคกลางตอนล่าง ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ :.ช่วงวันที่ 14-17 ต.ค. 67 ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ ทำให้บริเวณภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 79% ของความจุเก็บกัก (63,571 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 68% (39,380 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ :
3.1 สทนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 13–17 ต.ค. 67 เนื่องจากลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก และร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ต้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขัง เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จังหวัดกาญจนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
3.2 สทนช. ประกาศเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 13–24 ต.ค. 67 ด้วยอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมวลน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำไหลลงมาสมทบทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง จ.สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และสมุทรสงคราม
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ 12 ต.ค. 67 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก และ จ.พิจิตร เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยม-น่าน พร้อมให้กำลังใจประชาชนในพื้นที่ โดยรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัยและแผนการแก้ไขปัญหา พร้อมมอบนโยบายให้กับหัวหน้าส่วนราชการ ณ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 3 อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก หลังจากนั้น ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ทุ่งบางระกำ ณ วัดพรหมเกษร อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และช่วงบ่าย ติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.พิจิตร พร้อมมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัยและลงเรือมอบถุงยังชีพให้กับชาวบ้านกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ อ.สามง่าม ณ บ้านเกาะสาริกา อ.สามง่าม จ.พิจิตร
5. สถานการณ์อุทกภัย: วันที่ 12 ต.ค. 67 ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ จ.ลำพูน (อ.เมืองฯ) จ.ลำปาง (อ.แม่พริก) จ.พิษณุโลก (อ.เมืองฯ วัดโบสถ์ วังทอง พรหมพิราม บางระกำ บางกระทุ่ม และนครไทย) จ.สุโขทัย (อ.เมืองฯ ศรีสำโรง ศรีสัชนาลัย กงไกรลาศ คีรีมาศ ทุ่งเสลี่ยม และสวรรคโลก) จ.นครสวรรค์ (อ.เมืองฯ) จ.ชัยนาท (อ.เมืองฯ มโนรมย์ วัดสิงห์ และสรรพยา) จ.สิงห์บุรี (อ.เมืองฯ พรหมบุรี และอินทร์บุรี) จ.สุพรรณบุรี (อ.เมืองฯ เดิมบางนางบวช สามชุก ศรีประจันต์ สองพี่น้อง อู่ทอง และดอนเจดีย์) จ.อ่างทอง (อ.เมืองฯ ป่าโมก วิเศษชัยชาญ และไชโย) จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.พระนครศรีอยุธยา บางบาล บางปะอิน บางปะหัน ผักไห่ เสนา และบางไทร) และ จ.นครปฐม (อ.นครชัยศรี บางเลน และกำแพงแสน) จังหวัดที่อยู่ในระหว่างการฟื้นฟู 2 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.เมืองฯ แม่สาย แม่ลาว เวียงป่าเป้า เวียงชัย และเชียงแสน) และ จ.เชียงใหม่ (อ.สารภี)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 12 ต.ค. 67