สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 8 ก.ย. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงราย (54 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.สกลนคร (57 มม.) ภาคกลาง : จ.กรุงเทพมหานคร (12 มม.) ภาคตะวันออก : จ.จันทบุรี (59 มม.) ภาคตะวันตก : จ.กาญจนบุรี (56 มม.) ภาคใต้ : จ.นราธิวาส (116 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งและมีลมแรง
คาดการณ์ : ช่วงวันที่ 9 – 13 ก.ย. 67 ร่องมรสุมจะพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้มีฝนลดลง
พายุโซนร้อนกำลังแรง “ยางิ” (YAGI) บริเวณด้านตะวันตกของเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศกำลังแรงตามลำดับ ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมาก และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 64% ของความจุเก็บกัก (51,185 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 46% (27,005 ล้าน ลบ.ม.)
3. ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ : ประกาศสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 13/2567 ลงวันที่ 1 ก.ย.67 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 3 – 9 ก.ย. 67 พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวัง ดังนี้
พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และบริเวณชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง และสตูล
เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80
เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำยม แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำตราด โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และแม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
4. แนวทางการบริหารจัดการน้ำ : วานนี้ (7 ก.ย. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำบางปะกง ครั้งที่ 9/2567 เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าในช่วงสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเกิดฝนตกหนักขึ้นในหลายพื้นที่ ประกอบกับอยู่ในช่วงเฝ้าระวังพายุไต้ฝุ่นยางิ
รวมทั้งลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออก โดยเฉพาะที่จังหวัดจันทบุรีและตราด จึงได้ร่วมกันวางแผนรองรับสถานการณ์ฝนที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่น้อยที่สุด และร่วมลงพื้นที่จุดคันดินกั้นน้ำ (คลองเพชร) อ่างเก็บน้ำเขาระกำขยาย (สระสีเสียด) และจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮโดรโฟร์ ปากคลองส่งน้ำสายใหญ่
กรมชลประทานและกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้วางแผนทยอยพร่องระบายน้ำในอ่างที่มีปริมาณน้ำมาก เพื่อรองรับปริมาณฝนที่จะตกมาเพิ่ม โดยจะแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้า
กรมประชาสัมพันธ์ได้นำเสนอแผนสร้างการรับรู้และการเตือนภัยผ่านช่องทางต่างๆ กรมทรัพยากรน้ำได้รายงานแผนการติดตั้งเครื่องมือแจ้งเตือนรวมถึงสร้างเครือข่ายการแจ้งเหตุเตือนภัยให้ครอบคลุมพื้นที่ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เตรียมแนวทางการแจ้งเตือนภัย การให้ความช่วยเหลือและจัดเตรียมสถานที่พักพิง รวมไปถึงการเยียวยาฟื้นฟูให้กับประชาชนที่รับผลกระทบ
5. สถานการณ์น้ำท่วม : วันที่ 7 ก.ย. 67 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย (อ.ขุนตาล และพญาเม็งราย) จ.สุโขทัย (อ.สวรรคโลก ศรีสำโรง คีรีมาศ และกงไกรลาศ) จ.พิษณุโลก (อ.พรหมพิราม บางระกำ และเมืองฯ) จ.นครสวรรค์ (อ.ชุมแสง) จ.อ่างทอง (อ.โพธิ์ทอง แสวงหา วิเศษชัยชาญ และป่าโมก) และ จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา บางบาล บางปะหัน ผักไห่ บางไทร พระนครศรีอยุธยา และบางปะอิน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 ก.ย.67