กรมสรรพากรร่อนจดหมายแสนฉบับทวงภาษี
• “กุลยา” ตามรีดภาษีผู้ประกอบการนอกรีต
• ยันรายได้ 2.27 ล้านล้านบาทจัดเก็บเข้าเป้า
• จับตาธุรกิจรุ่ง หรือทรุดมีผลต่อรายได้รัฐ
“กุลยา” ยันจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมานย 2.27 ล้านล้านบาทอย่างแน่นอน พร้อมลุ้นสิ้นปีงบประมาณนี้ อาจจะจัดเก็บรายได้เกินเป้าหมายเล็กน้อย แนะผู้ประกอบการที่ได้รับจดหมายทวงภาษีรีบเข้าพบเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ล่าสุด กรมสรรพากรได้ส่งหนังสือถึงผู้ประกอบการที่ไม่เคยเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จำนวนกว่า 100,000 ฉบับ เพื่อให้ผู้ประกอบการรับทราบว่า กิจการของตนเองมีภาระภาษีเกิดขึ้นแล้ว และมีหน้าที่ในการเสียภาษี ซึ่งในกรณีนี้ ไม่เกี่ยวกับบริษัทนิติบุคคลที่เสียภาษีไม่ถูกต้อง และกำลังถูกกรมสรรพากรตรวจสอบอยู่ในขณะนี้
“กรมสรรพากร ส่งจดหมายถึงผู้ประกอบการทุกปี โดยในแต่ละปี จะได้รับการตอบกลับประมาณครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 50,000 ราย โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นเอกสาร และชี้แจงกับเจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดความถูกต้องมากที่สุด” อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวและกล่าวว่า
ที่ผ่านมา กรมสรรพากร ได้ทำการส่งจดหมายแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการที่มีรายได้ 2-3 ล้านบาทต่อปี แต่ไม่ยื่นภาษี หรือไม่จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการเสียภาษีแวต เป็นต้น โดยในแต่ละปี จะจัดเก็บรายได้เพิ่มจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ประมาณ 2,000 ล้านบาม น.ส.กุลยา กล่าว
ในปีนี้ งบประมาณ2567 กรมสรรพากรยังยืนยันว่า จัดเก็บรายได้ตรงตามเป้าหมายอย่างแน่นอน 2.276 ล้านล้านบาท โดยผลการจัดเก็บรายได้ 9 เดือนแรกของปรงบประมาณ 2567 (ต.ค.66-มิ.ย. 67) กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้เกินกว่าเป้าหมาย 0.5%
“ตอนนี้ยอดการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร 9 เดือนสามารถทำได้ตามเป้าหมาย ส่วนเวลาที่เหลืออีก 3 เดือนก่อนสิ้นสุดปีงบประมาณ 2567 ก็พยายามจะอย่างเต็มที่ โดยความท้าทายคือ ยังมีเรื่องของบางธุรกิจยังมีการชะลอตัว เช่น อสังหาริมทรัพย์”
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวต่อว่า เซกเตอร์ธุรกิจที่ยังไปได้ดี ทำให้กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ดี คือ พลังงาน ธนาคาร ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และการบริการ ไม่ว่าจะ ธุรกิจโรงแรม หรือร้านอาหาร
ขณะที่ภาพรวมของประเภทภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล และภาษีแวต ยังทำได้ตรงเป้า นอกจากนี้ แนวโน้มของการนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบการค่าเงินบาทที่อ่อนตัว ทำให้ยอดการจัดเก็บแวตจากมูลค่าการนำเข้าดีขึ้น
“ในส่วนของแวต ในช่วงต้นปีที่ยังไม่ค่อยดีนั้น ถูกฉุดจากตัวแวตการนำเข้าเป็นสำคัญ และช่วงนี้แวตจาการนำเข้าก็กลับมาดีขึ้นแล้ว ส่วนแวตการบริโภคภายในประเทศยังดีต่อเนื่อง”
ส่วนกรณีที่ การปรับปรุงแก้ไขกำหนดหลักเกณฑ์กฎหมายจัดเก็บภาษีแวต จากสินค้านำเข้าสินค้าราคาไม่เกิน 1,500 บาท จากเดิมที่ยกเว้นภาษีแวต ประเด็นนี้ ขอชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นการทำเพื่อเพิ่มรายได้ แต่ดำเนินการเพื่อสร้างสมดุลและความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบไทย และผู้ประกอบการต่างประเทศ ทั้งนี้ จากตัวเลขของกรมศุลกากร คาดว่าจะจัดเก็บรายได้ที่ ปีละ 1,500 ล้านบาท
สำหรับกระบวนการแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากร เรื่อง การจัดเก็บภาษีภาษีแวต จากสินค้านำเข้าสินค้าราคาไม่เกิน 1,500 บาท ยืนยันว่าดำเนินการเสร็จทันตามกำหนดแน่นอนคือจะเสนอการแก้ไขประมวลรัษฎากรในปี 2567 และเริ่มใช้ได้ในปี 2568
พร้อมกันนี้ปีนี้ มีแผนที่จะแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากร เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 หรือ การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีมีเงินได้จากแหล่งเงินได้นอกประเทศ ว่าหากนำรายได้ดังกล่าวเข้าประเทศจะต้อนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ด้วย อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กรมสรรพากร เล็งเก็บภาษีคนไทยที่มีรายได้จากตปท.