สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 15 ก.ค. 67
1. สรุปสถานการณ์น้ำ และปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงใหม่ (55 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.อุบลราชธานี (116 มม.) ภาคกลาง : จ.สระบุรี (51 มม.) ภาคตะวันออก : จ.นครนายก (119 มม.) ภาคตะวันตก : จ.ประจวบคีรีขันธ์ (27 มม.) ภาคใต้ : จ.นครศรีธรรมราช (44 มม.)
สภาพอากาศวันนี้ : ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง
คาดการณ์ : วันที่ 16 – 19 ก.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรง ประกอบกับร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออก เฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางจะมีกำลังแรงขึ้นเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง และจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่
2.สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 49% ของความจุเก็บกัก (39,673 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 27% (15,532 ล้าน ลบ.ม.)
3.แจ้งเตือน/ประชาสัมพันธ์ : สทนช. แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 7/2567 ในช่วงวันที่ 15 – 20 ก.ค. 67 ร่องมรสุมกำลังแรงจะพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่โดยมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ได้แก่
ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน ตาก สุโขทัย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล ยะลา และนราธิวาส
4.ข่าวประชาสัมพันธ์ : เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 67 นาย สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และคณะ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจราชการติดตามการเตรียมความพร้อมตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำบางปะกง ในพื้นที่ จ.จันทบุรี และ จ.ชลบุรี โดยในช่วงเช้า ได้เดินทางไปยังเทศบาลตำบลพลับพลานารายณ์ อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี เพื่อรับฟังการนำเสนอสภาพพื้นที่ที่เคยเกิดอุทกภัยการเตรียมความพร้อมรับมือ และสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.จันทบุรี พร้อมเดินทางลงพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัย จำนวน 2 จุด ใน อ.เมืองจันทบุรี ได้แก่ จุดน้ำท่วมซ้ำซากชุมชนบริเวณ ต.พลับพลา และจุดน้ำท่วมซ้ำซาก ต.บางกะจะ จากนั้นในช่วงบ่าย ได้เดินทางไปยัง จ.ชลบุรี เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน บริเวณพื้นที่ที่เคยเกิดอุทกภัย บริเวณเลียบทางรถไฟเขาตาโล ต.หนองปรือ อ.บางละมุง ทั้งนี้ สทนช. ได้รับฟังปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 67 ของหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อวางแนวทางการเตรียมรับมือและแก้ไขปัญหาอุทกภัยร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งในระยะสั้น เช่น การขุดลอก การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนประชาชน ฯลฯ และแนวทางในระยะยาว ซึ่งได้กำชับให้หน่วยงานมีการเตรียมความพร้อมแผนงานโครงการที่มี
ความจำเป็นเพื่อเสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนในการเร่งแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ สทนช. จะบูรณาการการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กลไกของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำบางปะกง ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ ณ จ.ระยอง เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยจากฝนตกหนักบริเวณภาคตะวันออกในระยะนี้ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 14 ก.ค. 67