คลังกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ฟื้นเศรษฐกิจ
• “กฤษฎา” มั่นใจช่วยคนไทยมีบ้านง่ายขึ้น
• ลดค่าธรรมเนียนโอน-จำนองบ้าน 7 ล้านบาท
• คาดสูญรายได้ 2 พันล้าน ดันจีดีพีพุ่ง 1.8%
กระทรวงการคลัง มั่นใจมาตราการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจ และจีดีพี เพิ่มขึ้น 1.7-1.8% คิดเป็นมูลค่า 400,000-500,000 ล้านบาท โดยจะช่วยโละสต็อกบ้านระดับราคา 4-7 ล้านบาท ที่ล้นตลาดเนื่องจากขายไม่ออก เพราะประชาชนขาดกำลังซื้อให้ลดลงได้
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง กล่าวว่า เราจำเป็นต้องช่วยภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก่อน เนื่องจากยอดขายไตรมาส4 ของปีที่แล้ว ติดลบถึง 8% ขณะที่ ผู้ซื้อบ้านก็ยังถูกปฏิเสธการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารอีกด้วย มาตรการนี้ จึงจำเป็นต้องเร่งผลักดันออกมาก่อน เพื่อให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ช่วยดึงธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามขึ้นด้วย
กระทรวงการคลัง จะใช้ 2 ธนาคารรัฐที่สำคัญคือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และ ธนาคารออมสิน สนับสนุนรัฐบาล โดยไม่ต้องได้รับรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลในรูปเงินอุดหนุน แต่จะใช้วิธีการบวกกลับไปในการชี้วัดผลงาน หรือ KPI
ขณะที่นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธอส.ระบุว่า ธอส.ได้ปรับลดเงื่อนไขกรณีความสามารถในการผ่อนชำระ จากที่มีหลักเกณฑ์ในการผ่อน 1 ใน 3 ของรายได้ เปลี่ยนเป็นผ่อนได้ 1 ใน 2 หรือ ผ่อนได้ถึงครึ่งหนึ่ง หรือ 50% ของรายได้ ขณะที่ ความเสี่ยงของธนาคารไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก จากสถิติในการปล่อยสินเชื่อโครงการบ้านล้านมาแล้ว 3 เฟส พบว่า คนกลุ่มนี้ มีความเสี่ยงต่ำและเอ็นพีแอลน้อย
นายวิทัย รัตนกร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ระบุว่า วงเงินเบื้องต้นที่ตั้งกรอบวงเงินเอาไว้ 20,000 ล้านบาทนั้น เป็นวงเงินเบื้องต้น หากไม่เพียงพอ ก็จะเพิ่มวงเงินได้อีก
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า ปริมาณบ้านในพื้นที่ กทม.และปริมาณไตรมาส 4 ปีที่แล้ว มีอยู่ประมาณ 251,134 หน่วย ราคาบ้านตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่เกิน 7.5 ล้านบาท คิดเป็น 87% ขณะที่ บ้านในพื้นที่ต่างจังหวัด 57,207 หน่วย ราคาตั้งแต่ 3 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7.5 ล้านบาท มีอยู่ 90% ดังนั้น มาตรการนี้ จะครอบคลุมบ้านที่อยู่ในสต๊อกเกือบทั้งหมด
“มาตรการอสังหาริมทรัพย์ รอบนี้ จะมีเงินหมุนเวียนในระบบ 800,000 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุน 400,000 ล้านบาท และเพิ่มการบริโภค 120,000 ล้านบาท รวมเป็นเม็ดเงินที่จะหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 1 ล้านล้านบาท ขณะที่ รายได้จากลดค่าธรรมเนียนการโอนและจดจำนอง ลดลงประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่คลังจะมีรายได้จากแหล่งอื่นมาทดแทน เช่น ภาษีเงินได้นิติยบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น”
“วงเงินในการปล่อยสินเชื่อรวมทั้งหมด 50,000 ล้านบาท และหากเต็มวงเงินก็สามารถเพิ่มได้อีก ส่วนมาตรการ LTV จะมีหารือในระดับกระทรวงการคลังกับ ธปท.ในอนาคต”
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก (Thailand Vision) ประกอบด้วย
1. การปรับปรุงมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ปี 2567โดยลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนอง อสังหาริมทรัพย์จาก 1% เหลือ 0.01% โดยมีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธ.ค.2567
2. มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน กำหนดให้บุคคล ธรรมดา หักลดหย่อนค่าจ้างก่อสร้างบ้านให้แก่ผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้หักลดหย่อนภาษีได้ 10,000 บาทต่อทุกจำนวนค่าก่อสร้าง 1 ล้านบาท หรือล้านละหนึ่งหมื่นบาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 100,000 บาท หรือราคาบ้าน 10 ล้านบาท ลดหย่อนภาษีได้ 10,000 บาท จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2568
3. โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท โดย ธอส.ปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี วงเงินต่อรายสูงสุด ไม่เกิน 3,000,000 บาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี โดยประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถยื่นคำขอกู้กับ ธอส. ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 ธ.ค. 2568
4. โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Life วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 2.98% ต่อปี วงเงินต่อรายตั้งแต่ 2,500,000 บาทขึ้นไป โดยประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถยื่นคำขอกู้กับ ธอส. ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หรือจนกว่า ธอส. ให้สินเชื่อเต็มตามกรอบวงเงินของโครงการ
5. การให้การส่งเสริมกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (โครงการบ้าน BOI) โดยผู้ประกอบการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ สำหรับการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เช่น 1.ที่อยู่อาศัยที่ขอรับการส่งเสริม กรณีอาคารชุดต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 24 ตารางเมตร และกรณีบ้านเดี่ยวหรือบ้านแถว ต้องพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 70 ตารางเมตร 2.การก่อสร้างที่อยู่อาศัย ที่ขอรับการส่งเสริมต้องจำหน่ายให้บุคคลธรรมดาเท่านั้น โดยก่อสร้างที่อยู่อาศัย (รวมค่าที่ดิน) ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท 3. ต้องมีที่อยู่อาศัยตามเงื่อนไขที่กำหนดไม่น้อยกว่า 80% ของที่อยู่อาศัยทั้งโครงการ 4.มีแผนผังและแบบแปลน ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ และได้รับการอนุญาตก่อสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และ5. ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันทำการสุดท้ายของปี 2568 เป็นต้น
มาตราการของธนาคารออมสินพย์ ประกอบด้วย 1.โครงการสินเชื่อบ้านออมสินเพื่อประชาชน วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 2.95% ต่อปี วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด ไม่เกิน 7,000,000 บาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี 2.โครงการสินเชื่อ D-HOME สำหรับผู้ประกอบการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการนำไปเป็นเงินลงทุน ได้แก่ ค่าที่ดิน ค่าก่อสร้าง ค่าพัฒนาสาธารณูปโภค หรือเป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.50% ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 4 ปี ฟรีค่าธรรมเนียม