สมาคมประกันชีวิตไทย เผย เบี้ยประกันภัยรับรวมปี 66 เติบโต 3.61 %
สมาคมประกันชีวิตไทย เผย เบี้ยประกันภัยรับรวมปี 66 เติบโต 3.61 % คาดการณ์ปี 67 เติบโต 2 – 4 %
นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เผยภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตของปี 2566 ระหว่าง มกราคม – ธันวาคม มีเบี้ยประกันภัยรับรวม (Total Premium) อยู่ที่ 633,445 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 3.61% เมื่อเทียบกับปี 2565 จำแนกเป็น เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ (New Business Premium) 178,470 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 5.06% และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป (Renewal Premium) 454,975 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 3.06%
สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย
1. เบี้ยประกันภัยรับปีแรก (First Year Premium) 112,377 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 6.83%
2. เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) 66,093 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 2.18%
จำแนกเบี้ยประกันภัยรับรวมแยกตามช่องทางการจำหน่าย ดังนี้
1. การขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต (Agency) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 338,920 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 4.21% เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 53.50%
2. การขายผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 239,112 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 1.41% เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 37.75%
3. การขายผ่านช่องทางนายหน้าประกันชีวิต (Broker) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 30,808 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 16.19% เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 4.86%
4. การขายผ่านช่องทางดิจิทัล( Digital) เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 1,930 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 11.07% เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 0.30%
5. การขายผ่านช่องทางอื่น (Others) เช่น การขาย Worksite , Walkin การขายผ่านการออกบูธการขายผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ Direct Mail , Tele Marketing เป็นต้น เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 22,676 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 2.58% เมื่อเทียบกับปี 2565 คิดเป็นสัดส่วน 3.58%
สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมและมีอัตราการเติบโตมากขึ้น ในปี 2566 คือ สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและคุ้มครองโรคร้ายแรง ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 109,786 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 5.93% คิดเป็นสัดส่วน 17.33% ซึ่งหลัก ๆ มาจากการที่ประชาชนใส่ใจดูแลสุขภาพและเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการทำประกันสุขภาพมากขึ้น เพื่อบริหารความเสี่ยงและรับมือกับค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น (Medical Inflation) ในขณะที่ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว รวมถึงมีการเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินช่วงวัยเกษียณกันมากขึ้น เพราะนอกจากเป็นรูปแบบการออมประเภทหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่ำแล้ว ยังได้รับความคุ้มครองชีวิต และ สิทธิการลดหย่อนภาษีที่ทางภาครัฐให้การสนับสนุนมาตรการลดหย่อนภาษี จึงส่งผลให้ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) ในปี 2566 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 17,986 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 14.26% หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.84%
ส่วนในปี 2567 สมาคมประกันชีวิตไทยได้ประมาณการอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตอยู่ที่ในช่วง 2.0% – 4.0% ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2567 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ไว้ที่ 2.2% – 3.2% นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากกระแสคนรักสุขภาพ อันเนื่องมาจากการที่ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบของการเกิดโรคอุบัติใหม่ เช่น โควิด – 19 สายพันธุ์ใหม่ และมลภาวะจากฝุ่น PM 2.5 มากขึ้น รวมถึงแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ประชาชนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ และ มีการทำประกันสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aged Society) นโยบายสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีของภาคธุรกิจ เช่น AI และ Data Analytics เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และสนับสนุนในทุกกระบวนการในธุรกิจประกันชีวิต ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ การเสนอขาย การพิจารณารับประกันภัย การพิจารณาสินไหม ไปจนถึงการส่งมอบบริการและธุรกรรมหลังการขายที่เกี่ยวข้องกับกรมธรรม์ เพื่อยกระดับความพึงพอใจของผู้เอาประกันภัยให้เพิ่มสูงขึ้น
ในขณะเดียวกันในปีนี้ ธุรกิจประกันชีวิตยังคงต้องติดตามแนวโน้ม และความผันผวน ของสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและเศรษฐกิจโลก อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอัตราดอกเบี้ย สถานการณ์เงินเฟ้อ และตลาดหุ้นไทย ที่ส่งผลกระทบต่อการออม การลงทุน และการใช้จ่ายของภาคประชาชน รวมถึงต้องติดตามสถานการณ์สงครามการค้าหรือความขัดแย้งระหว่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการเกิดโรคอุบัติใหม่ เพราะส่งผลต่อความต้องการและความเชื่อมั่นของภาคประชาชนที่มีต่อธุรกิจประกันชีวิตโดยตรง
ดังนั้น สมาคมประกันชีวิตไทยจึงมีแผนดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อปัจจัยท้าทายรอบด้าน โดยนำแนวคิดการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน (ESG) มาประยุกต์ใช้ในการประกอบการพิจารณาลงทุนและดำเนินงานที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ ESG ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และการกำกับดูแล (Governance) เพื่อให้ธุรกิจประกันชีวิตมีความยั่งยืนมากขึ้น
นอกจากนี้สมาคม ฯ มีนโยบายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตรูปแบบใหม่ และสนับสนุนในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้พัฒนากระบวนการต่าง ๆ ของธุรกิจประกันชีวิต เพื่อยกระดับความพึงพอใจและความเชื่อมั่นของผู้เอาประกันภัยให้มากขึ้น มีการส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชน เช่น เรื่องการรู้เท่าทันของเทคโนโลยีและภัยไซเบอร์ เพื่อช่วยปกป้องผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย รวมถึงมีนโยบายเชิงรุกในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เป็นปัจจุบัน โดยทางสมาคม ฯ จะเป็นแกนกลางในการประสานพันธกิจทั้งในรูปแบบประชุมหารือรับฟังความคิดเห็นระหว่างบริษัทประกันชีวิต กับ หน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยที่มีคณะกรรมการบริหารสมาคมเป็นประธานเพื่อติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งผลักดันระบบการจัดสอบและอบรมความรู้ ระบบออกใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทั้งบริษัทสมาชิก และ บุคคลทั่วไปที่สนใจสมัตรสอบเข้าสู่เส้นทางอาชีพตัวแทนประกันชีวิต
ที่สำคัญ สมาคมประกันชีวิตไทยมีนโยบายที่มุ่งให้แต่ละบริษัทประกันชีวิต มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการบริหารและจัดการความเสี่ยงอย่างรอบด้าน ทั้งก่อนและหลังการรับประกันภัย และมีฐานะทางการเงินที่มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามความเสี่ยง (CAR Ratio) สูงกว่าระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามเกณฑ์ที่กำหนด (Supervisory CAR) เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยมั่นใจว่า บริษัทประกันชีวิตสามารถปฏิบัติตามภาระผูกพันของกรมธรรม์ประกันภัยได้ทุกกรมธรรม์ที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย และพร้อมที่จะให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยจนกว่าจะครบกำหนดสัญญา ดังจะเห็นได้จาก ในไตรมาสที่ 3/2566 จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ภาคธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุนตามความเสี่ยง อยู่ที่ 350% ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ใช้ในการกำกับ (Supervisory CAR) จึงขอให้ผู้เอาประกันภัยทุกท่านเชื่อมั่นว่าธุรกิจประกันชีวิตมีความมั่นคง แข็งแกร่ง และยึดมั่นคำสัญญาตามข้อผูกพันในกรมธรรม์ประกันชีวิตทุกกรมธรรม์ที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวในตอนท้าย