สทนช. หวั่นลุ่มน้ำวังเสี่ยงแล้งหนัก
สทนช.เกาะติดสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำวังตอนล่าง สั่งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้งปีนี้ พร้อมถอดบทเรียนจากปีที่ผ่านมา บูรณาการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนป้องกันแก้ไขปัญหา มั่นใจน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมีเพียงพอตลอดทั้งปี
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ได้ขับเคลื่อนติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำวังตอนล่าง จังหวัดลำปางและจังหวัดตาก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำเกือบทุกปีอย่างใกล้ชิด โดยใช้กลไกของคณะกรรมการลุ่มน้ำวังและคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้ถอดบทเรียนจากการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเกิดสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศมาวางแผนรับมือในฤดูแล้งปี 2566/67
อย่างไรก็ตามจากการติดตามสถานการณ์และแนวโน้มการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ในพื้นที่ลุ่มน้ำวังตอนล่างล่าสุด แม้ขณะนี้ยังไม่มีพื้นที่เสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค นอกเขตพื้นที่การประปาส่วนภูมิภาค (พื้นที่ประปาท้องถิ่น) ก็ตาม แต่ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และดำเนินการตาม 9 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2566/67 อย่างเคร่งครัด เพราะประเทศไทยยังอยู่ในสภาวะเอลนีโญ ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่ได้ รวมทั้งได้สั่งการให้ สทนช.ภาค 1 ประสานงานหน่วยที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดลําปางและจังหวัดตาก เพื่อบูรณาการรวบรวมข้อมูลสภาพปัญหาและสถานการณ์น้ำของทั้งสองจังหวัด เพื่อนำมาวางแผนแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์
สำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำวังตอนล่างในช่วงที่ผ่านมานั้น ล่าสุดในปี 2566 ได้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และน้ำรักษาระบบนิเวศ โดยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาผ่านทางคณะกรรมการลุ่มน้ำวัง ซึ่งได้มีมติให้สำนักงานชลประทานที่ 2 พิจารณาจัดทำแผนการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่พริก (ผาวิ่งชู้) จำนวน 5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพื่อรักษาระบบนิเวศและเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับผลิตประปาหมู่บ้าน ในพื้นที่ลุ่มน้ำวังตอนล่าง โดยเริ่มจัดสรรน้ำตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. – 26 ก.ค. 2566 ผลจากการดำเนินการดังกล่าวมีการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำรวมทั้งสิ้น 1.68 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2566 พื้นที่ลุ่มน้ำวังตอนล่างขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ได้มีการพิจารณาเพิ่มการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่พริก (ผาวิ่งชู้) สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ ทำให้ไม่มีรายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด
เลขาธิการ สทนช. กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานการณ์น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ลุ่มน้ำวัง 2 แห่งในปีนี้มีปริมาณค่อนข้างดีมาก คือ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม จังหวัดลำปาง มีปริมาณน้ำ 105 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 99% ของปริมาณ การกักเก็บ โดยวางแผนการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งปี 2566/67 เพื่อการอุปโภค-บริโภค 16.13 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศ 21.90 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเกษตร 121.94 ล้าน ลบ.ม. โดยรับน้ำเพิ่มจากอ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา 90 ล้าน ลบ.ม. รวมกับน้ำท่าที่ไหลเข้าอ่างฯ สำรองไว้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2567 จำนวน 40.52 ล้าน ลบ.ม. และอื่น ๆ 30.30 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง มีปริมาณน้ำ 189 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 111% ของปริมาณการกักเก็บ โดยวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 1.45 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศ 7.78 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการเกษตร 9.58 ล้าน ลบ.ม. สำรองไว้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2567 อีก 70.56 ล้าน ลบ.ม. และอื่นๆ 90 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้อ่างเก็บที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำวังตอนล่าง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง คือ อ่างเก็บน้ำแม่พริก (ผาวิ่งชู้) จังหวัดลำปาง มีปริมาณน้ำ 36.49 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 100% ของปริมาณการกักเก็บ
“สทนช. จะนำบทเรียนจากการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในที่ลุ่มน้ำวังตอนล่างในช่วงที่ผ่านมา และสถานการณ์น้ำปัจจุบันมาบูรณาการในการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำผ่านทางคณะกรรมการลุ่มน้ำวังและคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำช่วงฤดูแล้งปีนี้ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค จึงมั่นใจได้ว่าจะมีน้ำเพียงพอกับความต้องการใช้ตลอดทั้งปีอย่างแน่นอน” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย