สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 13 พ.ย. 66
สภาพอากาศวันนี้ : ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
คาดการณ์: ช่วงวันที่ 14-15 พ.ย. 66 ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนวันที่ 16 พ.ย. 66 ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนอง
ปริมาณน้ำรวมทั้งประเทศ ณ วันที่ 12.พ.ย. 66 น้อยกว่า ปี 2565 จำนวน 3,997 ล้าน ลบ.ม. สรุปได้ดังนี้
ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 64,033 ล้าน ลบ.ม. (78%)
ปริมาณน้ำใช้การ 39,865 ล้าน ลบ.ม. (69%)
การประเมินสถานการณ์แหล่งน้ำขนาดใหญ่
ระดับน้ำเกินระดับควบคุมสูงสูด 10 แห่ง ภาคเหนือ : กิ่วลม แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วคอหมา แม่มอก แควน้อยบำรุงแดนและบึงบอระเพ็ด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : อุบลรัตน์ และลำปาว ภาคกลาง : ป่าสักชลสิทธิ์ ภาคตะวันออก : ขุนด่านปราการชล
ระดับน้ำเกินระดับควบคุมต่ำสุด 5 แห่ง ภาคเหนือ: สิริกิติ์ และทับเสลา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: หนองหาร ภาคกลาง : กระเสียว ภาคตะวันออก : คลองสียัด
โดยขอให้หน่วยงานดำเนินการ 1. วางแผนการระบายน้ำโดยจัดลำดับความสำคัญตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 2. ประชาสัมพันธ์ และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรและ
ขอความร่วมมือให้เกษตรกรงดการปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และ 3) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยการใช้น้ำภาคการเกษตรให้ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืช เพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและเพิ่มรายได้ในพื้นที่
น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค แม่น้ำเจ้าพระยา ณ สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำเพื่อการเกษตร แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ประกาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 4/2566 ลงวันที่ 12 พ.ย. 66 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้
สทนช. ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศ และได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์ โดยมีพื้นที่เสี่ยงบริเวณภาคใต้ ต้องเฝ้าระวัง ในช่วงวันที่ 14 – 18 พ.ย. 2566 ดังนี้
1. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก บริเวณ จ.ชุมพร
(อ.เมืองชุมพร ปะทิว และหลังสวน) จ.ระนอง (อ.เมืองระนอง กระบุรี ละอุ่น กะเปอร์ และสุขสำราญ) จ.สุราษฎร์ธานี (อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ท่าชนะ ไชยา พุนพิน กาญจนดิษฐ์ ดอนสัก บ้านนาสาร เกาะสมุย และเกาะพะงัน) จ.นครศรีธรรมราช (อ.เมืองนครศรีธรรมราช ขนอม สิชล นบพิตำ ลานสกา ท่าศาลา ปากพนัง ชะอวด และหัวไทร) จ.พัทลุง (อ.บางแก้ว ป่าบอน เขาชัยสน อ.เมืองพัทลุง และปากพะยูน) จ.สงขลา (อ.ระโนด สะทิงพระ สิงหนคร จะนะ สะเดา และเทพา) จ.ปัตตานี (อ.เมืองปัตตานี หนองจิก และแม่ลาน) จ.นราธิวาส (อ.เมืองนราธิวาส บาเจาะ ยี่งอ เจาะไอร้อง ตากใบ สุไหงโก-ลก และสุคิริน) จ.ยะลา (อ.เมืองยะลา รามัน ยะหา และบันนังสตา)
2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.ระนอง และสุราษฎร์ธานี และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกัก ที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ
สถานการณ์น้ำท่า
สถานการณ์น้ำท่าประเทศไทย
สถานการณ์น้ำส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง ยกเว้น บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สถานการณ์น้ำท่าแม่น้ำโขง
คาดการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำโขงในช่วง 5 วันข้างหน้าพบว่า แนวโน้มเพิ่มขึ้น 1 สถานี คือ สถานีเชียงแสน แนวโน้มลดลง 4 สถานี คือ เชียงคาน หนองคาย นครพนม และมุกดาหาร แนวโน้มทรงตัว 1 สถานี คือ โขงเจียม
กองทัพบก ร่วมกับผู้นำท้องถิ่นและฝ่ายปกครอง อ.สะเดา จ.สงขลา ได้ลงพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักในพื้นที่ส่งผลให้เกิดน้ำป่าจากเทือกเขาน้ำค้างชายแดนไทย-มาเลเซีย ไหลบ่าทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านน้ำลัด ซึ่งตั้งอยู่พื้นที่หมู่ 2 ต.สำนักแต้ว อ.สะเดา เกือบทั้งหมู่บ้านประมาณ 400 ครัวเรือน โดยช่วยขนย้ายสิ่งของไปไว้ที่สูงและอพยพชาวบ้านในกรณีที่จำเป็นต้องออกจากบ้าน