รถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงของ คืบหน้า 3.016%
รฟท.รายงาน ความคืบหน้ารถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงของ ล่าสุดงานดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่อง เริ่มเจาะอุโมงค์แม่กาแล้ว ส่วนการเวนคืนที่ดิน สำเร็จแล้ว 80% มั่นใจสร้างเสร็จปี2571
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323.10 กม.ว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2561 รฟท.ได้เริ่มงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2565 โดยการก่อสร้าง ณ เดือนต.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้ มีความคืบหน้ารวม 3.016% เร็วกว่าแผน0.289% ( แผนงาน 2.727%) โดยมีระยะเวลาก่อสร้างรวม 7 ปี (71 เดือน) สัญญาก่อสร้างสิ้นสุด วันที่ 14 ม.ค. 2571 ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ตามแผนในปี 2571
ทั้งนี้ ในส่วนของการเวนคืนที่ดิน 7,400 แปลง งบประมาณ 10,600 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์คืบหน้าประมาณ 80% และทยอยส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป โดยตามแผนงาน มีระยะเวลาเวนคืน 24 เดือน ซึ่งจะครบในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามแผน
โดยการเวนคืนมีทั้งที่ดินของประชาชนที่มีโฉนด ที่ดินหน่วยงานรัฐเช่น สปก. กรมป่าไม้ และกรมธนารักษ์ ซึ่งได้มีการบูรณาการความร่วมมือกัน โดยใช้กลไกราคา มีกระบวนการยื่นอุทธรณ์ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ประชาชนพอใจเนื่องจาก ให้ราคาที่ 3.2% สูงกว่าราคาประเมินของธนารักษ์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาการใช้พื้นที่ส่วนของกรมธนารักษ์ และสำนักงานสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนก.พ. 2567
ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 10 พ.ย. 2566 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ บริเวณงานอุโมงค์รถไฟ (อุโมงค์แม่กา) ซึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดลำปางและจังหวัดพะเยา เป็นอุโมงค์ที่มีความยาว 6.2 กิโลเมตร โดยเป็นอุโมงค์ ในงานสัญญา 2 ซึ่งได้เริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างได้ก่อน โดยงานขุดเจาะอุโมงค์ใช้ระยะเวลา 45 เดือนปัจจุบันทำงานมาแล้ว 8 เดือน งานมีความก้าวหน้าไปมากกว่าแผนตอกจากนี้ ยังมีการสำรวจออกแบบวิธีการก่อสร้างที่ป้องกันเรื่องแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว แบะมีระบบระบายน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมด้วย
สำหรับ อุโมงค์แม่กา เป็นหนึ่งในสี่อุโมงค์ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ในพื้นที่สัญญา 2 ช่วงงาว-เชียงราย พื้นที่ประกอบด้วย ชั้นดิน และชั้นหิน วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ คาบเกี่ยว 2 จังหวัดคือ ลำปาง และพะเยา เป็นอุโมงค์คู่ทางเดี่ยว แบ่งเป็นฝั่ง up track และ down track มีความยาว 2,700 เมตร (ทั้งหมด 5,400 เมตร) ภายในอุโมงค์มีทางเชื่อม 2 ประเภท คือทางเชื่อมกรณีฉุกเฉินเพื่ออพยพ (cross passage) 11 จุด และทางเชื่อมที่เป็นห้องควบคุมงานระบบ (equipment room) 4 แห่ง คาดว่าจะดำเนินการขุดเจาะทะลุหากันได้ภายในปี 2570
นายนิรุฒ กล่าวว่า ในแง่การก่อสร้าง คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามแผนงานซึ่งโครงการนี้รวมงานก่อสร้างโยธา งานวางราง งานระบบอาณัติสัญญาณ ไว้ในสัญญาเดียวกัน จะทำให้การทำงานเชื่อมต่อกันได้ทั้งหมดภายใต้ผู้รับจ้างเดียวกัน จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการไม่ล่าช้าเหมือนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะที่หนึ่งที่แยกสัญญางานระบบอาณัติสัญญาณ กับสัญญา ก่อสร้างงานโยธาออกจากกัน
“โครงการรถไฟทางคู่สายนี้ เป็นเส้นทางที่ประชาชนในพื้นที่รอคอยมานานมากเมื่อมีโครงการเกิดขึ้นประชาชนจึงให้ความร่วมมือเป็นอย่างมาก ส่วน การเวนคืนที่เหลือ คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่วางไว้ โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จเชื่อว่าจะเป็นเส้นทางรถไฟที่สวยที่สุดเป็นเส้นทางด้านการท่องเที่ยวรวมถึงการเดินทางของประชาชนอีกทั้งเป็นเส้นทางหลักในการรองรับการขนส่งขนส่งสินค้าจากประเทศจีน ดยมีศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า (Intermodal Facilities) ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ที่เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างรฟท. กรมการขนส่งทางบกกรมศุลกากร ช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ ของประเทศ
สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของแบ่งสัญญาก่อสร้างออกเป็น 3 สัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 103.7 กิโลเมตรผู้รับจ้างก่อสร้าง คือ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-เนาวรัตน์ มูลค่างาน 26,560 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง :2,160 วัน (71 เดือน) เริ่มงานตามสัญญา วันที่ 15 ก.พ.2565 สิ้นสุดงานตามสัญญา วันที่ 14 ม.ค. 2571
สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 132 กิโลเมตร ผู้รับจ้างก่อสร้าง คือ กิจการร่วมค้าซีเคเอสที – ดีซี2 มูลค่างาน 26,890 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 2,160 วัน (71 เดือน)เริ่มงานตามสัญญา วันที่ 15 ก.พ. 2565สิ้นสุดงานตามสัญญาวันที่ 14 ม.ค. 2571
สัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 87 กิโลเมตร ผู้รับจ้างก่อสร้าง คือ กิจการร่วมค้าซีเคเอสที -ดีซี3 มูลค่างาน 19,385 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 2,160 วัน (71 เดือน) เริ่มงานตามสัญญา วันที่ 15 ก.พ.2565 สิ้นสุดงานตามสัญญา วันที่ 14 ม.ค. 2571