คลังยัน “ดิจิทัล วอลเล็ต” ไม่ใช่แค่บรรเทาความเดือดร้อน
จุลพันธ์ ยอมรับในฐานประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท มีการเสนอความเห็นแตกต่างจากที่หารือกันนอกระบบระหว่าง นายกรัฐมนตรีและ ธปท.
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวยืนยันว่า มาตรการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท หรือโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ต้องเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ ไม่ใช่มาตรการบรรเทาความเดือดร้อน ดังนั้น หนึ่งในข้อเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่า มาตรการดิจิทัล วอลเล็ต สมควรให้แก่ผู้ที่มีความยากจนที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 16 ล้านคน เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
“ก่อนหน้านี้ นายกฯ ได้พบกับผู้ว่าการ ธปท.ซึ่งมีข้อตกลงกันว่า มาตรการนี้ จะไม่แจกเงินให้แก่คนรวย หรือคนที่มีรายได้สูง รัฐบาลก็ยอมรับได้ แต่ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ธปท.กลับบอกว่า ให้แจกเฉพาะคนที่มีรายได้น้อย อย่างนี้ เรารับไม่ได้” รมช.คลัง กล่าว และกล่าวว่า
ในประชุมคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง ธปท.และสภาพัฒน์ฯ ยังมีความเห็นเหมือนกันว่า เศรษฐกิจไทยดีแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอีก แต่เท่าที่ทราบ เศรษฐกิจปีนี้ ไม่ได้ดีอย่างที่คิด และสภาพัฒน์ฯ เองก็ยังคาดว่า จีดีพีไทยปีนี้ ต่ำกว่า 3% ขณะที่ รัฐบาลต้องการเห็น จีดีพีเติบโตมากกว่าไปนั้น คือระดับ 5% เป็นสิ่งที่เราต้องพยายามทำให้ได้
รมช.คลัง กล่าวว่า ในใจ อยากให้ประชาชนที่มีรายได้เกิน 50,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 500,000บาท ถูกตัดออกไป หรือไม่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะเหลือผู้ได้สิทธิประมาณ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 490,000 ล้านบาท สามารถได้เข้าร่วมโครงการนี้ได้ทั้งหมด เพราะคนกลุ่มที่ถูกตัดออกไปนั้น น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มของคนรวย ซึ่งเป็นเส้นแบ่งความยากจนที่ ธปท. เสนอมา ไม่ใช่กระทรวงการคลังเสนอ
“เส้นแบ่งความร่ำรวย มีรายได้มาก หรือรายได้น้อย แบงก์ชาติเป็นคนทำมา เราก็ต้องยอมรับข้อมูล เพราะ เขา มีข้อมูลมากที่สุด” รมชคลัง กล่าวว่า โดย รายได้ที่ ธปท.ระบุไว้ กระทรวงการคลัง จะพิจารณาฐานข้อมูลการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นหลัก เช่น รายได้หมายถึง รายรับทั้งหมด ไม่ใช่เงินเดือนเพียงอย่างเดียว ส่วนในฝั่งของรายจ่าย เราก็คำนึงเหมือนกัน เช่น หนี้สิน ค่างวดผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เป็นต้น แต่ยังไม่ได้มีการพูดถึงประเด็นนี้ มากนัก
ส่วนประเด็นที่มีการพูดกันมากคือ แอปเป๋าตังนั้น ข้อมูลเป็นรัฐบาล แต่ธนาคารกรุงไทย มอบหมายให้บริษัทลูก ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนดำเนินการ จึงเท่ากับแอปเป๋าตังเป็นของบริษัทเอกชน ไม่ใช่ของรัฐบาล ดังนั้น การสร้างแอปฯ ใหม่ขึ้นมาเท่ากับ แอปและข้อมูลเป็นของรัฐบาลทั้งหมด
ทั้งนี้ ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้เสนอ 3 ทางเลือก เพื่อให้คณะกรรมการชุดใหญ่ได้ตัดสินใจ คือ
1. ให้สิทธิเฉพาะผู้ยากไร้ ราว 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณราว 150,000 ล้านบาท
2. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 100,000 บาทออก จะเหลือผู้ได้สิทธิ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 430,000 ล้านบาท
3. ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 500,000บาทออก จะเหลือผู้ได้สิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 490,000 ล้านบาท