กนง.ค้านรัฐแจกเงินทุกรูปแบบ ยันไม่คุ้มค่า
กนง.ยืนยันขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาอยู่ที่ ระดับ 2.50% เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และผลักดันในอัตราการเติบโตเศรษฐกิจเสถียรภาพ ขณะที่มองเห็นการแลกเงินของรัฐบาล ไม่ดีเท่ากับการใช้จ่ายเงินจากภาครัฐ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2566 ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อปี และให้มีผลทันที
ทั้งนี้ กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้จะขยายตัวชะลอลงบ้างในปีนี้ แต่จะขยายตัวสูงขึ้นในปี 2567 อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในปีหน้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง แต่ยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชน ส่วนระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ
“คณะกรรมการฯ ประเมินว่า การทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา จนถึงการประชุมครั้งนี้ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ทั้งนี้การดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า จะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ ที่อาจได้รับแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐ” เอกสารเผยแพร่ระบุ
คณะกรรมการฯ มองว่า เศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยคาดว่าในปี2566 จะขยายตัว 2.8% และในปี2567 จะขยายตัวได้ 4.4% โดยเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ชะลอลงจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ฟื้นตัวช้า
อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเร่งสูงขึ้นในปี2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1.การบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจากภาคบริการเป็นสำคัญ สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวดี โดยเฉพาะการจ้างงานในสาขาที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมถึงแรงส่งจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
2. ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 66 จะอยู่ที่ 28.5 ล้านคน และปี 67 จะอยู่ที่ 35 ล้านคน และ3.การส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ตามอุปสงค์สินค้าโลกที่อยู่ในทิศทางฟื้นตัว และการกลับมาของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์
ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 1.6% ในปีนี้ และ 2.6% ในปี2567 ซึ่งในปีหน้าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัว แรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งราคาอาหารที่สูงขึ้นจากปรากฎการณ์เอลนีโญ
“แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ยังมีความไม่แน่นอน โดยด้านสูง มีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐที่อาจมากกว่าคาด และด้านต่ำ มีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่อาจฟื้นตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ โดย เฉพาะเศรษฐกิจจีน” เอกสาร ของ กนง.ระบุ และยังเปิดเผยต่อไปอีกว่า
ทั้งนี้ คณะกรรมการได้มีการอภิปรายในประเด็นที่สำคัญ เช่นคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้อัตราการขยายตัวในปีนี้จะชะลอลงบ้างจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าคาด แต่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี2567 จะเร่งสูงขึ้นจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวเต็มที่และครบครันมากขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของรายได้แรงงาน ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง และภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว
คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามแรงส่งเพิ่มเติมจากนโยบายภาครัฐต่อเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในบริบทปัจจุบันที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับศักยภาพ นโยบายดังกล่าวอาจสร้างแรงกดดันด้านอุปสงค์เพิ่มเติมให้กับเงินเฟ้อ และประเมินว่าตัวคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ของโครงการประเภทเงินโอน หรือการแจกเงินให้ประชาชน มักต่ำกว่าการใช้จ่ายหรือการลงทุนภาครัฐโดยตรง จากผลการศึกษาในหลายประเทศ รวมทั้งไทย
พร้อมเห็นว่า หากการก่อหนี้ของภาครัฐเป็นไปเพื่อเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือการยกระดับทักษะแรงงาน อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่สูงขึ้นจะช่วยเสริมความยั่งยืนของระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี
คณะกรรมการฯ ประเมินว่าตลาดการเงินผันผวนสูงขึ้น ส่วนหนึ่งจากปัจจัยในประเทศ โดยเฉพาะการที่นักลงทุนรอความชัดเจนของนโยบายภาครัฐ ที่อาจมีนัยต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพด้านการคลังในอนาคต
คณะกรรมการฯ เห็นว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังควรดำเนินการต่อในครั้งนี้ เพื่อให้อัตราดอก เบี้ยกลับไปอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในระดับที่เหมาะสม จะช่วยสนับสนุนให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว โดยป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงิน ในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่อยู่ในระดับสูง
คณะกรรมการฯ จะพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งคณะกรรมการฯ จะดำเนินนโยบายให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไป (outlook dependent)