สทนช.หวั่นเอลนีโญรากยาว

ภาครัฐเข้มวางแผนจัดการน้ำคาดไทยเผชิญเอลนีโญต่อเนื่อง

กอนช. เผยไทยยังคงอยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อน หน่วยงานภาครัฐจึงเร่งเตรียมพร้อมรับมือและวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มข้นก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอ
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมการประเมินสถานการณ์น้ำ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมทรัพยากรธรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในสภาวะเอลนีโญกําลังอ่อน ส่งผลให้มีปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศ ต่ำกว่าค่าปกติ 14% โดยมีปริมาณฝนสะสมต่ำสุดในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งต่ำกว่าค่าปกติถึง 31% ซึ่ง กอนช. จะมีการติดตามพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งอย่างใกล้ชิดเพื่อจะได้วางแผนบริหารจัดการน้ำตามสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ในขณะที่ปริมาณน้ำใช้การทั้งประเทศในช่วงต้นฤดูแล้ง ณ วันที่ 1 พ.ย. 66 คาดการณ์ว่าจะมีจำนวน 24,372 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งในภาพรวมปริมาณน้ำยังคงน้อยกว่าเมื่อปีที่แล้วอยู่ 11,481 ล้าน ลบ.ม.

“แม้ปัจจุบันสภาวะเอลนีโญจะยังมีกำลังอ่อน ทำให้ยังมีฝนตกในหลายพื้นที่ และมีปริมาณน้ำไหลเข้าแหล่งน้ำต่าง ๆ เพิ่มขึ้นโดยมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 3,081 ล้าน ลบ.ม. และคาดว่าจะมีน้ำไหลเข้าเพิ่มในสัปดาห์นี้อีก 3,174 ล้าน ลบ.ม. สำหรับพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัยทั่วประเทศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวน 24 จังหวัด ซึ่ง กอนช. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้ความช่วยเหลือและบริหารจัดการน้ำเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ไปแล้ว คงเหลืออีกเพียง 7 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย อดรธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี และปทุมธานี ซึ่งจะเร่งดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม สภาวะเอลนีโญมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูแล้ง ก่อนที่จะมีกําลังอ่อนลงและต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567 ดังนั้น เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์เอลนีโญได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สทนช. จึงได้เร่งวางแผนและเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งอย่างเข้มข้น โดยมีการถอดบทเรียนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทุกภาคส่วน เพื่อนำมาใช้สำหรับปรับปรุงร่าง 9 มาตรการเตรียมการรองรับฤดูแล้งที่ปี 2566/67 ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ช่วงเดือนตุลาคมจากนั้นจึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบ และนำมาขับเคลื่อนโดยบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” ดร.สุรสีห์ กล่าว

ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า จากสถานการณ์ที่ประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับสภาวะเอลนีโญอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การบริหารจัดการน้ำมีความละเอียดอ่อนมากกว่าสภาวะปกติ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในวันที่ 25 ต.ค. 66 ซึ่งเป็นวันครบก่อนการดำเนินงานปีที่ 6 ของ สทนช. จึงได้มีการจัดงานเพื่อร่วมขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำของประเทศภายใต้สภาวะเอลนีโญ โดยมีการจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และภาคประชาชน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการน้ำของประเทศภายใต้สภาวะเอลนีโญ อีกทั้งมีการจัดนิทรรศการของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแสดงผลงานและการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำ รวมกว่า 17 หน่วยงาน
“และในโอกาสนี้ สทนช. ได้จัดประกวดคลิปสั้นความยาวไม่เกิน 2 นาที และคลิปใน TikTok ความยาวไม่เกิน 3 นาที ภายใต้หัวข้อ “รณรงค์ประหยัดน้ำเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสภาวะเอลนีโญ” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนร่วมมือกันใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า โดยผู้ชนะการประกวดจะได้รับเงินรางวัล พร้อมประกาศนียบัตร และจะมีการจัดพิธีมอบรางวัลให้แก่ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภท พร้อมจัดแสดงผลงานในวันงานครบรอบของ สทนช. สำหรับทุกท่านที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเพจ Facebook : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และส่งผลงานได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 10 ต.ค. 66” เลขาธิการ สทนช. กล่าว