วิทัย ดันออมสินแชมป์ปล่อยกู้ BCG
“ออมสิน” ชู 3 โมเดล วางแผนการปล่อยสินเชื่อลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี2050 ทั้งลดอัตราดอกเบี้ย
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ธนาคารออมสิน ได้อนุมัติแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions Roadmap ภายในปี 2050 จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ราว 1.68 ล้านตัน พร้อมตั้งแผนลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมลงได้มากกว่า 50% ภายในปี 2030 ดำเนินการทั้งรูปแบบภายในองค์กรที่จะลดการใช้น้ำมัน และใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โซลาร์รูฟท็อป การส่งเสริมการปลูกป่า 50,000 ไร่ และใช้นโยบายเปลี่ยนผ่านของลูกค้าด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษให้กับลูกค้าและการลงทุน
“ขณะนี้ออมสิน ได้ทยอยติดตั้งแผงโซล่าร์ทั้งสำนักงานใหญ่ และสำนักงานสาขาทั่วประเทศ คาดว่าปี2568 จะครบ 900 สาขา จากประมาณ 1,500 สาขา อีกทั้งจะเปลี่ยนการใช้รถยนต์ขององค์กรมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมสร้างจุดชาร์จด้วย ภายใน กทม.จะเปลี่ยน 100% ภายใน 3 ปีขงหน้า และต่างจังหวัดภายใน 5 ปี อีกทั้งจะเดินหน้าปลูกป่า เพื่อแนวดูดซับคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง และช่วยพัฒนาชุมชน สร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบ เป็นต้น”
โดยธนาคารออมสินได้นำแนวคิด BCG Economy หรือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลักคือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มาแล้วประมาณ 7-8 เดือน สามารถปล่อยสินเชื่อไปได้แล้ว 22,000 ล้านบาท ซึ่ง Net Zero ก็จัดอยู่ในกลุ่ม BCG Economy ทำให้ธนาคารออมสินเป็นธนาคารที่มีเป้าหมายปล่อยกู้ Net Zero ที่ชัดเจนมากที่สุด
นอกจากนี้ ยังได้นำระบบการใช้คะแนนที่เรียกว่า ESG Score เพื่อให้การดำเนินงานของธนาคารเป็นไปตามเป้าหมายของ Net Zero ที่วางไว้ โดยผลคะแนน ESG Score จะนำมาประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ ลดดอกเบี้ย รวมถึงการเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”
ทั้งนี้ธนาคารได้จัดกลุ่มธุรกิจที่จะสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. Exclusion List หรือธุรกิจที่ไม่สนับสนุน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง 2.Negative List หรือธุรกิจที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ โดยหลีกเลี่ยงการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจที่มีคะแนน ESG Score ในระดับต่ำมาก โดยธนาคารจะเข้าทำ Positive Engagement กับลูกค้าเพื่อช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาในการปรับปรุงดำเนินงานด้านความยั่งยืน รวมทั้งด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งระบบ
และ 3. Positive List หรือ ธุรกิจที่ให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ ผ่านการกำหนดสิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ส่งเสริม BCG ธุรกิจ EV และ Supply Chain หรือกิจการบริษัทที่มีคะแนน ESG Score ในระดับสูง เป็นต้น
“ขณะนี้ ออมสินมีพอร์ตสินเชื่อ BCG Economy ที่สนับสนุนให้ลูกค้าทั้งรายเก่าและใหม่เปลี่ยนผ่านสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งเป้าหมายว่า ปี 2030 พอร์ตสินเชื่อ BCG จะมีสัดส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด, ซัพพลายเชนอีวี 35% และส่งเสริมสินเชื่อให้ลูกค้าบริษัทจดทะเบียนต้องมีแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยจะมีสัดส่วนลูกค้าส่วนนี้ 40%”
นายวิทัย ยังกล่าวด้วยว่า นโยบายดังกล่าวตอบสนองแผนของประเทศ ที่จะสู่ Net Zero ภายในปี 2065 ซึ่งเชื่อมั่นว่ารัฐบาลใหม่จะสนับสนุนแผนงานนี้ ในขณะเดียวกันเพื่อลดความเสี่ยงการปล่อยกู้ที่ไม่เหมาะสม ทางธนาคารมีแผนงานดำเนินงานตามกรอบปล่อยสินเชื่อพลังงานสะอาด, สินเชื่อที่เน้นลูกค้า บจ.ที่มีแผนดำเนินธุรกิจESG ,ลูกค้าโครงสร้างพื้นฐาน โดยกลุ่มเหล่านี้ ก็จะเป็นรูปแบบสัญญาสินเชื่อที่มีสถาบันการเงินหลายแห่งเป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน (Syndicated loan) โดยแผนงานปล่อยกู้ลูกค้านาดใหญ่เหล่านี้ ก็จะเป็นการนำผลกำไร ไปเป็นส่วนช่วยเหลือลูกค้ารายย่อย ให้มีต้นทุนที่ต่ำได้ต่อไป