สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 22 สค. 66
ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.บึงกาฬ (150) จ.เชียงราย (97) จ.ประจวบคีรีขันธ์ (79) จ.ลพบุรี (68) จ.ระยอง (66) และ จ.นราธิวาส (49)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 44,008 ล้าน ลบ.ม. (53%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,322 ล้าน ลบ.ม. (55%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ พร้อมท่อส่งน้ำสูบน้ำจากห้วยผีบ้าให้กับแหล่งน้ำผลิตระบบประปาหนองอีเกิ้ง ต.น้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ประชาชนได้รับประโยชน์ 868 คน และติดตั้งเครื่องสูบน้ำในบริเวณพื้นที่ ต.บ้านมะเกลือ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ สูบน้ำจากแม่น้ำปิงเข้าคลองยายหมอน แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 4,310 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 5 หมู่บ้าน จำนวน 560 ครัวเรือน 3,000 คน
กอนช. ประกาศ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 15/2566 ในช่วงวันที่ 20-25 ส.ค. 66 ดังนี้ ภาคเหนือ จ.เชียงราย เชียงใหม่ น่าน และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร อุดรธานี อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต สตูล ตรัง และสุราษฎร์ธานี
สทนช. เร่งหน่วยงานขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 เพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญปัจจุบัน (21 ส.ค. 66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 41,789 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 55% สามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 34,548 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯและเขื่อนป่าสักฯ) มีปริมาณน้ำรวม 10,258 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 41% ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 14,613 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการทำนาปีทั่วประเทศไปแล้วประมาณ 14.40 ล้านไร่ คิดเป็น 85 % ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 0.98 ล้านไร่ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำนาปีไปแล้ว 7.34 ล้านไร่ คิดเป็น 91% ของแผนฯ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 0.96 ล้านไร่ ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าสถานการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ในช่วงเดือน พ.ย. 66 – เม.ย. 67 มีปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้ประมาณ 7,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้นดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย กรมชลประทานจึงได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ พร้อมเร่งเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ดังนี้
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 15/2566 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2566 แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ด้วย กอนช. ได้ติดตามสภาพอากาศ พบว่าร่องมรสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้ในช่วงวันที่ 20 – 25 สิงหาคม 2566 มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ดังนี้ ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย
ขุนตาล และแม่สรวย) จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอฝาง และแม่อาย) จังหวัดน่าน (อำเภอนาหมื่น และเวียงสา) จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอเขาค้อ) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย เฝ้าไร่ โพนพิสัย และรัตนวาปี) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอบุ่งคล้า) จังหวัดนครพนม (อำเภอ ท่าอุเทน และศรีสงคราม) จังหวัดสกลนคร (อำเภอพรรณานิคม สว่างแดนดิน และอากาศอำนวย) จังหวัดอุดรธานี (อำเภอบ้านดุง) จังหวัดอำนาจเจริญ (อำเภอเมืองอำนาจเจริญและหัวตะพาน) จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอเมืองสุรินทร์) จังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอเมืองศรีสะเกษ) จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอเขื่องใน) ภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี แก่งหางแมว และขลุง) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด เขาสมิง บ่อไร่ คลองใหญ่ และเกาะช้าง) ภาคใต้ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง และกะเปอร์) จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงาคุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง ทับปุด และท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง) จังหวัดสตูล (อำเภอเมืองสตูล และละงู) จังหวัดตรัง (อำเภอเมืองตรัง ปะเหลียน และวังวิเศษ) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอพนม และบ้านตาขุน)
ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
2.1 กรมเจ้าท่า เร่งขุดลอก เพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยผลที่ได้จากโครงการฯ เป็นการส่งเสริมส่งเสริมอาชีพประมงในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง – บำรุงรักษาร่องน้ำลดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพิ่มประสิทธิภาพในการไหลระบายน้ำออกสู่ทะเลอ่าวไทย ลดปัญหาการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ตำบลไสหร้า อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ประชาชนจะได้รับประโยชน์จำนวนประมาณ 250 ครัวเรือน จากการระบายน้ำในฤดูมรสุมน้ำป่าไหลหลาก และการใช้ร่องน้ำทำอาชีพเกษตรกรรม จำนวน 150 ครัวเรือน ใช้ประโยชน์ในกิจกรรมสาธารณะ ประโยชน์ของ อปท. ส่วนท้องถิ่น
2.2 กรมทรัพยากรน้ำ เข้าดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง พร้อมท่อส่งน้ำยาว 400 เมตร สูบน้ำจากห้วยผีบ้าไปเติมให้กับแหล่งน้ำผลิตระบบประปาหนองอีเกิ้ง ณ บ้านดอนดู่ หมู่ที่ 7 ตำบลน้ำปลีก อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2566 จนถึงปัจจุบันโดยมีประชาชนได้รับประโยชน์
1 หมู่บ้าน 221 หลังคาเรือน 868 คน และยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ