สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 29 ก.ค. 66
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.บึงกาฬ (135) จ.น่าน (93) จ.กาญจนบุรี (76) จ.จันทบุรี (72) จ.สุราษฎร์ธานี (25) และ จ.พระนครศรีอยุธยา (9)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 40,909 ล้าน ลบ.ม. (50%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,318 ล้าน ลบ.ม. (51%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ประกาศ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 12/2566 ในช่วงวันที่ 29 ก.ค. – 2 ส.ค. 66 ดังนี้ ภาคเหนือ จ.ตาก และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช
กอนช. ติดตามหน่วยงานวางแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 66 นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมหารือการจัดทำมาตรการรับมือภัยแล้ง และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อเร่งพิจารณาจัดทำมาตรการรับมือภัยแล้งและการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ EEC เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบของสถานการณ์เอลนีโญ ที่ทำให้ปริมาณฝนน้อยและทิ้งช่วงยาวนาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะภัยแล้งและเกิดความผันผวนของปริมาณน้ำฝนในระยะยาว อันเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตในอนาคตและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านน้ำให้กับในพื้นที่ EECทางด้านกรมชลประทาน จึงได้วางแผนรับมือเพื่อสร้างความมั่นใจด้านน้ำให้กับพื้นที่ EEC ด้วยการใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกที่มีอยู่ ผันน้ำจากคลองสะพานมาเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง ซึ่งมีศักยภาพสูบผันน้ำได้ประมาณ 470,000 ลบ.ม./วัน จากนั้นจะใช้อ่างฯ ประแสร์เป็นศูนย์กลางการสูบผันส่งกระจายน้ำไปยังอ่างฯ คลองใหญ่ และผันน้ำต่อไปยังอ่างฯ หนองปลาไหล เพื่อกระจายน้ำสำหรับใช้ในการอุปโภค-บริโภค และอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC ได้อย่างทั่วถึงเพียงพอ นอกจากนี้ ยังได้เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่บริเวณปากคลองผันน้ำเชื่อมอ่างฯ คลองใหญ่ – อ่างฯ หนองปลาไหลเพิ่มเติมเพื่อเร่งการผันน้ำ (Gravity) จากอ่างฯ คลองใหญ่ ไปเติมอ่างฯ หนองปลาไหล ได้เร็วยิ่งขึ้น พร้อมกำชับให้ใช้ระบบชลประทานและโครงข่ายการสูบผันน้ำที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่ EEC สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 ดังนี้
ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 12/2566 ลงวันที่ 24 ก.ค. 2566 กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์พบพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน ในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2566 โดยมีผลกระทบกับ ภาคเหนือ จังหวัดตาก (อำเภออุ้มผาง) จังหวัดอุทัยธานี (อำเภอบ้านไร่) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอเกษตรสมบูรณ์) จังหวัดหนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเซกา และบึงโขงหลง) จังหวัดนครพนม (อำเภอท่าอุเทน และศรีสงคราม) จังหวัดสกลนคร (อำเภอโคกศรีสุพรรณ) จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอเสลภูมิ และโพนทอง) จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอนางรอง) จังหวัดสุรินทร์ (อำเภอชุมพลบุรี) จังหวัดศรีสะเกษ (อำเภอภูสิงห์ ขุขันธ์ ขุนหาญ
และปรางค์กู่) จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอบุณฑริก) ภาคตะวันออก จังหวัดฉะเชิงเทรา (อำเภอท่าตะเกียบ) จังหวัดชลบุรี (อำเภอบ่อทอง) จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา บ้านค่าย แกลง และบ้านฉาง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง มะขาม เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ โป่งน้ำร้อน แก่งหางแมว และนายายอาม) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด บ่อไร่ เกาะช้าง แหลมงอบ และเขาสมิง) ภาคใต้ จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ และกระบุรี) จังหวัดพังงา (อำเภอเมืองพังงา คุระบุรี ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง) จังหวัดภูเก็ต (อำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง) จังหวัดกระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอบ้านตาขุน และพนม) จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอช้างกลาง)
ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรมชลประทาน ดำเนินการจัดเจ้าหน้าที่กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ บริเวณฝายป้อหลวงฮ้อนและบ้านห้วยต้นผึ้ง ตำบลกลางดง อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย และดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ บริเวณชุมชนดอนงิ้ว ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสูบน้ำระบายน้ำท่วมขังช่วยเหลือบ้านเรือนราษฎร
การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมงานเปิดตัว “รายงานสภาวะภูมิอากาศในเอเชีย ประจำปี 2565” ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) พร้อมด้วย UNESCAP และ UNDRR ซึ่งเป็นองค์การพันธมิตร ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ด้วยการตระหนักถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้ริเริ่มจัดทำรายงานสภาวะภูมิอากาศสำหรับภูมิภาคประจำปีขึ้น โดยรายงานสภาวะภูมิอากาศในเอเชีย ฉบับแรกได้จัดทำขึ้นในปี 2563 และรายงานประจำปี 2565 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยความร่วมมือและความพยายามร่วมกันระหว่าง WMO ประเทศสมาชิก องค์การพันธ์มิตรภายใต้สหประชาชาติ และองค์กรวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศอื่น ๆ ได้ให้ข้อมูลสรุปเกี่ยวกับตัวชี้วัดของสภาพภูมิอากาศที่สำคัญ รวมทั้งสรุปเหตุการณ์สำคัญทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้ร่วมประชุมหารือกับผู้แทนของ WMO โดย WMO ได้ชื่นชมการดำเนินการของกรมอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับการนำ Common Alerting Protocol (CAP) มาใช้ในการเตือนภัย และขอให้ประเทศไทยแบ่งปันเทคนิคการดำเนินการดังกล่าวแก่สมาชิกในภูมิภาคเอเชียด้วยการสนับสนุนของ WMO นอกจากนี้ได้หารือเกี่ยวกับความต้องการเแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในประเทศไทย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้สมาชิกในภูมิภาคเอเชียได้มีความใกล้ชิดและพัฒนาความร่วมมือให้แน่นแฟ้นกันมากยิ่งขึ้น