สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 1 ก.ค. 66 เวลา 7.00น.
ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักมากบริเวณ จ.สตูล (150) จ.ระยอง (109) จ.หนองคาย (83) จ.น่าน (82) จ.พระนครศรีอยุธยา (42) จ.เพชรบุรี (30)
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 40,846 ล้าน ลบ.ม. (50%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 36,452 ล้าน ลบ.ม. (51%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
พื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลากในช่วง 1-3 วัน ได้แก่ ภาคตะวันออก บริเวณ จ.ระยอง (อ.เขาชะเมา และแกลง) จ.จันทบุรี (อ.ขลุง เขาคิชฌกูฏ เมืองจันทบุรี ท่าใหม่ มะขาม แก่งหางแมว และนายายอาม) จ.ตราด (อ.เกาะช้าง บ่อไร่ เมืองตราด แหลมงอบ และเขาสมิง) ภาคใต้ บริเวณ จ.ระนอง (อ.เมืองระนอง กะเปอร์ และสุขสำราญ) จ.พังงา (อ.คุระบุรี ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า และเมืองพังงา) จ.กระบี่ (อ.เมืองกระบี่) จ.ตรัง (อ.ปะเหลียน และหาดสำราญ) จ.สตูล (อ.ละงู ทุ่งหว้า ควนโดน และควนกาหลง)
กรมทรัพยากรน้ำ แจกจ่ายน้ำสะอาด ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภค – บริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในเขตพื้นที่ บ้านเนินสะเดา หมู่ที่ 12 บ้านบางเคียน หมู่ที่ 13 และ 14 ต.บางเคียน อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ จำนวนปริมาณแจกจ่ายน้ำ 138,000 ลิตร การช่วยเหลือในครั้งนี้มีผู้รับประโยชน์ จำนวน 445 ครัวเรือน ประชากร 1,560 คน
กอนช. ติดตามการดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566
เมื่อวันที่ 29 – 30 มิ.ย. 66 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้จัดโครงการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้า และสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ตามมาตรการที่ 8 และ 10 ในมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 โดย นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการ สทนช. ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฯ ณ โรงแรม ทีค การ์เด้น สปา รีสอร์ท ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมประชาสัมพันธ์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยทหาร เครือข่ายภาคประชาชน และองค์กรผู้ใช้น้ำ เข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้ โดยรูปแบบการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุรับมือสถานการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ เป็นการฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะ (Table Top Exercise : TTX) และจำลองถานการณ์ อุทกภัยในพื้นที่ จ.เชียงราย มีขั้นตอนการฝึก ประกอบด้วยการจำลองการจัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และใช้กลไกการปฏิบัติตาม โครงสร้างของศูนย์ส่วนหน้า รวมทั้งการเตรียมความพร้อมทั้งเครื่องจักรเครื่องมือแผนเผชิญเหตุการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องข้อมูลสถานการณ์น้ำ ช่องทางและการเชื่อมโยงการรับ-ส่งข้อมูลข่าวสารระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐ รวมถึงการแนะนำการใช้งานแอปพลิเคชันติดตามและแจ้งข้อมูลสถานการณ์น้ำ ผ่าน National ThaiWater (NTW) และช่องทางการติดต่ออื่นๆ เพื่อบูรณาการร่วมกันในการเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน ปี 2566
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 12 มาตรการ รองรับฤดูฝน ปี 2566
กรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาระบบระบายน้ำและปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่เขตพระโขนง ดังนี้ จุดที่ 1 ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาระบบระบายน้ำ บริเวณหมู่บ้านนิรันดร์วิลล่า ซอยพึ่งมี 50 โดยมีข้อสั่งการให้สำนักการระบายน้ำ ขยายปากท่อที่ต่อเชื่อมลงคลองบ้านหลาย บริเวณปลายซอยพึ่งมี 50 แยก 22 และให้สำนักงานเขตพระโขนงตรวจสอบและแก้ไขปัญหาระบบท่อระบายน้ำซอยพึ่งมี 50 ที่ระบายลงคลองบ้านหลายจุดที่ 2 ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาระบบไฟฟ้าส่องสว่าง บริเวณซอยวชิรธรรมสาธิต 27 และจุดที่ 3 ตรวจติดตามงานก่อสร้างเขื่อนคลองมอญ บริเวณซอยบริเวณซอยวชิรธรรมสาธิต 43
2. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดทำโครงการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้า และสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชน ระหว่างวันที่ 29 -30 มิ.ย. 2566 ณ โรงแรม ทีค การ์เด้น สปา รีสอร์ท ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานในมาตรการที่ 8 ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ (ตลอดช่วงฤดูฝน) และมาตรการที่ 10 การเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ระหว่างภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่ โดย สทนช. ได้ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าร่วมการฝึกเตรียมความพร้อม ด้านบุคลากร ทรัพยากร สถานที่ สิ่งอำนวยสะดวกต่างๆ สำหรับรับมือสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนนี้ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจนเห็นผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อร่วมซักซ้อมการปฏิบัติตามมาตรการให้สามารถติดตาม ประเมิน บริหารจัดการ และคาดการณ์สถานการณ์น้ำ รวมถึงแจ้งเตือน และให้ความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบอย่างมีความเป็นเอกภาพ ทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งจะเกิดประโยชน์ร่วมกันในการปฏิบัติงาน การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เกิดทักษะ และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานเครือข่ายด้วย ทั้งนี้ การฝึกซ้อมตามโครงการดังกล่าวได้กำหนดพื้นที่ฝึกซ้อมและสถานการณ์การฝึกซ้อมไว้ทั้งหมด 6 ภูมิภาค ใน 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ขอนแก่น เพชรบุรี ยะลา ลพบุรี และปราจีณบุรี ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2566
3. การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่มล่วงหน้า 3 วัน
สทนช. ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยล่วงหน้า 3 วัน พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากดินถล่ม ดังนี้ จังหวัดจันทบุรี (อำเภอขลุง เขาคิชฌกูฏ เมืองจันทบุรี ท่าใหม่ มะขาม แก่งหางแมว และนายายอาม) จังหวัดตราด (อำเภอเกาะช้าง บ่อไร่ เมืองตราด แหลมงอบ และเขาสมิง) จังหวัดระยอง (อำเภอเขาชะเมา และแกลง) จังหวัดระนอง (อำเภอเมืองระนอง กะเปอร์ และสุขสำราญ) จังหวัดพังงา (อำเภอคุระบุรี ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า และเมืองพังงา) จังหวัดสตูล (อำเภอละงู ทุ่งหว้า ควนโดน และควนกาหลง) จังหวัดตรัง (อำเภอปะเหลียน และหาดสำราญ) จังหวัดกระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่)