เจ้าสัวธนินท์ เผยจีนจากยากจนสู่มหาอำนาจใน 30 ปี
“ธนินท์ เจียรวนนท์” ปลื้มจีนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ทอดทิ้งไทย
“ธนินท์ เจียรวนนท์” ปลื้มจีนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ทอดทิ้งไทย เนื่องจากความสัมพันธ์ในอดีตจนถึงปัจจุบันยั่งรากลึกมานานกว่า 700 ปี ตั้งแต่สุโขทัย พร้อมย้ำนักลงทุนจีนรีบมาลงทุน ECC โดยด่วน
นายธนินท์ เจียรวนนท์ นายกสมาคมนักธุรกิจชาวจีนโพ้นทะเลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานกิตติมศักดิ์ถาวร หอการค้าไทย-จีน กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมนักธุรกิจชาวจีนโลกว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ผมได้ไปลงทุนที่ปักกิ่ง ภาพที่เห็นคือจีนในขณะนั้นยังเป็นประเทศที่ไม่ได้พัฒนามาก ประชาชนจีน แต่งกายด้วย “ชุดจงซาน” แบบท่านประธานเหมาเจ๋อตุง
ผมเห็นคนส่วนใหญ่ส่วนใหญ่ยังปั่นจักรยานในท้องถนน และมีรถยนต์น้อยมาก ในวันนั้น ผมยังคิดว่า หากวันหนึ่งจีนเจริญเติบโตมากขึ้น จะหาที่สถานที่ไหนจอดรถ ผ่านไปเพียง 3 ทศวรรษ จีนได้ทำให้ความเชื่อนั้นของผมเปลี่ยนแปลงไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ
วันนี้ ผมเห็นการพัฒนาและเติบโตเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จนกล่าวได้ว่ะประเทศจีนกลายเป็นมหาอำนาจของโลกในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสังคม และหากกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย – จีน ต้องยอมรับว่า ประเทศจีนมีความสัมพันธ์ที่พิเศษและแตกต่างจากความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศอื่นๆ โดยมีถึง 4 สายความสัมพันธ์ ที่ยังไม่มีประเทศใดมีมากได้เท่านี้ และแม้จะตัดความสัมพันธ์บางด้านออกไป ก็ยังคงมีสายสัมพันธ์ด้านอื่นๆ ที่ยึดโยงกันชนิดที่เรียกว่า สายสัมพันธ์ที่ตัดไม่ขาด ได้แก่
ไทยและจีน มีความผูกพันและติดต่อกันมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย และได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอย่างเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของประเทศไทยในขณะนั้น และต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ประเทศจีนได้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือประเทศไทยในช่วงวิฤตในหลายครั้ง โดยเฉพาะที่เห็นได้ชัดในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง ที่ได้ช่วยให้ไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตสงครามกับกองทัพพม่าที่จะยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาและอีกเหตุการณ์สำคัญในช่วงท่านประธานเหมาเจ๋อตุง และท่านโจว เอินไหล · นายกรัฐมนตรีจีนในขณะนั้น ที่ได้ช่วยทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการรุกรานของประเทศเวียดนาม
ประเทศไทยและจีนมีการค้าขายกันมา ตั้งแต่สมัยสุโขทัย นานกว่า 700 ปีโดยเฉพาะต้นของสมัยรัตนโกสินทร์ของไทย ในรัชกาลที่ 2 และ 3 พบว่า ชาวจีนได้เข้ามาทำการค้าขาย ตั้งถิ่นฐาน รวมทั้งการเพาะปลูกและการผลิต ทำให้ประเทศไทยได้มีการเรียนรู้ รูปแบบการค้าขายและการผลิตในแบบจีนประเพณีของจีนผสมผสานกับของไทยจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยในปัจจุบัน คนไทยเชื้อสายจีนตั้งรกรากและกลายเป็นพื้นที่สำคัญของประเทศอย่าง China Townนอกจากนี้ คนไทยนิยมและนับถือการเฉลิมฉลองเทศกาลต่าง ๆ ของจีน เช่น เทศกาลตรุษจีน เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง วันไหว้พระจันทร์ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของชีวิตในระดับเชื้อพระวงค์ไทย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ เสด็จเยือนจีนครบรอบ 50 ครั้ง เมื่อวันที่ 1 – 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งพระองค์ทรงเสด็จเกือบครบทุกมณฑลของจีนและสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ฯ ยังทรงโปรดบรรเลงเครื่องดนตรีจีนอย่าง กู่เจิง อีกด้วย
นายธนินท์ กล่าวว่า 2 ประเทศต่างความสัมพันธ์ตั้งแต่ระดับราชวงศ์ ขุนนาง การใช้นามสกุลของคนไทยเชื้อสายจีนได้รับอิทธิพลจากแซ่ต่างๆ ของจีน ในช่วงกว่า 700 ปีที่ผ่านมา และที่สำคัญคนไทยเชื้อสายจีนคือผู้ทำประโยชน์มากมายประเทศไทยดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดดุจพี่น้องระหว่างไทยกับจีนที่มีมาอย่างยาวนาน เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ไทยจีนใช่อื่นไกล พี่น้องกัน”
ด้านการค้า และการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ ปัจจุบันจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ติดต่อกัน 11 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2556มูลค่าการค้าไทย – จีน ในปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกจีน 1.19 ล้านล้านบาท (2.42 แสนล้านหยวน) ในกลุ่มผลไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติกในขณะที่ไทยนำเข้าจากจีนถึง 2.49 ล้านล้านบาท (5.07 แสนล้านหยวน) ในกลุ่มเครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรยนต์แม้ว่าไทยจะขาดดุลการค้าประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท (2.65 แสนล้านบาท) จากการนำเข้า แต่ก็ถือเป็นสินค้าประเภททุน (Capital Goods) ซึ่งเป็นสินค้าในกลุ่มเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรยนต์ และเทคโนโลยี สำหรับการต่อยอดการค้าของประเทศไทยนอกจากนี้ ที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศที่ขอสิทธิประโยชน์หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของไทยอย่าง BOI เป็นอันดับ 1 และมีมูลค่าสูงถึง 7.7 หมื่นล้านบาท (1.5 หมื่นล้านหยวน) และตั้งแต่ปี 2561- 2565 ประเทศจีนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ของไทยรวมทั้งสิ้นเป็นอัน 2 จากการลงทุนของต่างชาติในพื้นที่ EEC ทั้งหมดและประเทศไทยพร้อมเป็นหนึ่งในพื้นที่ศักยภาพและสามารถรองรับการลงทุนตรงจากจีนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยขั้นสูงอีกด้วย
สำหรับภาคการเกษตร เมื่อต้นปี 2565 ประเทศไทยได้รับผลกระทบและประสบปัญหาส่งออกผลไม้จากมาตรการ ZERO COVID ของประเทศจีน โดยหอการค้าไทยได้ร่วมกับประทรวงการต่างประเทศ เดินทางเข้าพบท่านหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน ที่อานฮุย เพื่อขอให้จีนได้ช่วยเปิดด่านและอำนวยความสะดวกในการส่งออกผลไม้ไทยไปยังจีนซึ่งท่านหวัง อี้ ก็ได้ตอบรับสั่งการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผลไม้ไทยทันทีทำให้ในปีที่ผ่านมา ทุเรียนไทยกว่า 96% ของการส่งออกทั้งหมด สามารถส่งถึงผู้บริโภคชาวจีนและเป็นที่นิยมอย่างมาก พร้อมทั้ง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ผลไม้ต่าง ๆ ของไทยที่ส่งไปจีนมูลค่ากว่า 1.7 แสนล้านบาทนอกจากนี้ จีนถือเป็นประเทศต้นแบบของไทย จากความสำเร็จของเป้าหมาย 100 ปีแรกของจีน ที่สามารถพลิกฟื้นความเจริญรุ่งเรืองของประเทศจนเป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะการที่จีนส่งเสริมคนรุ่นใหม่ ในการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้าไปบริหารจัดการภาคการเกษตร จนสามารถยกระดับผลผลิต สร้างรายได้ นำมาสู่การลดความเหลื่อมของสังคมอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความต้องการที่จะเรียนรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ ของจีน เพื่อช่วยยกระดับภาคการเกษตรของไทยให้ดียิ่งขึ้น ทั้งในด้านคุณภาพ และ Productivity
และมีศักยภาพพร้อมเป็นพื้นที่สนับสนุนวัตถุดิบทางการเกษตรให้จีนในอุตสาหกรรมอาหาร ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในปี 2562 ก่อนโควิด 19 ประเทศไทยเคยต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนถึง 10 ล้านคน และในปี 2566 นี้ ยังคาดว่าประเทศไทยจะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนถึง 5 ล้านคน ซึ่งที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวไทยให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวจีนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะความเป็นมิตรของคนไทย ความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกในการเดินทางภายในประเทศ
สำหรับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมา ได้ทำงานใกล้ชิดกับสถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศให้เพิ่มขึ้นในทุกมิติและได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน (Taskforce) เพื่อศึกษาการขยายการลงทุนของจีนมายังประเทศไทย ซึ่งได้เห็นพร้องที่จะใช้สถาบันการศึกษาที่เป็นกลางของทั้ง 2 ประเทศ ดำเนินโครงการศึกษาวิจัยร่วม (Joint Study) ในประเด็นดังกล่าวในฝ่ายไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้มอบหมายให้ ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ทำการศึกษา ขณะที่ในฝ่ายจีน สถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย ได้มอบหมายให้ คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยยูนนาน เป็นผู้ทำการศึกษา ทั้งนี้ ได้มีการเผยแพร่ผลการศึกษาและแนวทางการดึงดูดและการรองรับนักลงทุนจีน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อทั้ง 2 ประเทศ โดยมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
ประเทศไทยพร้อมปรับปรุงกลไกความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับประเทศจีน โดยการจัดตั้งแพลตฟอร์มแบ่งปันข้อมูลทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน // การก่อตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-จีน รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างธุรกิจ ในระดับภาคเอกชนของ 2 ประเทศ ทั้งหอการค้าฯ สมาคมอุตสาหกรรมต่างๆ ระหว่างไทยและจีน ให้มากยิ่งขึ้น
ขยายความร่วมมือด้านการลงทุนของจีน ใน EEC ของไทย โดยใช้กลไกขับเคลื่อนภายใต้กรอบความร่วมมือ RCEP // ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – จีน // การยกระดับความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขง และการเร่งผลักดันโครงการรถไฟไทย – ลาว – จีน เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้ใกล้ชิด และสอดคล้องกับข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนด้วย
การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมไทย – จีน โดยเฉพาะการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างไทย-จีน และการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในลักษณะ 2 ประเทศ 2 นิคม เพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยง Supply Chain ซึ่งกันและกัน
การยกระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน ทั้งการส่งเสริมมหาวิทยาลัยไทย-จีน ดำเนินการฝึกอบรมร่วมกันให้มากขึ้นการผลักดันการศึกษาทางภาษาให้ลึกซึ้ง ทั้งภาษาไทยและจีน โดยที่ผ่านมา หอการค้าไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง สำนักงานกรุงเทพฯ (BLCA) ภายใต้การสนับสนุนของสถานเอกอัคราชทูตจีน ประจำประเทศไทย ได้จัดตั้งหลักสูตร Top Executive Program on China Business Insights and Network (TEPCIAN) ซึ่งถือเป็นหลักสูตรเดียวที่คัดนักธุรกิจชั้นนำทั้งคนไทยและคนจีน มาเรียนรู้ร่วมกัน ต่อยอดการลงทุน การท่องเที่ยวไทย-จีน อย่างลึกซึ้งและเป็นรูปธรรม
นายธนินท์ กล่าวว่า ไทยพร้อมยกระดับการบริการข้อมูลการลงทุน ทั้งการจัดตั้ง One Stop Service ด้านการลงทุนแบบครบวงจร รวมถึงผลักดันให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ (BOI) ของไทยในมณฑลต่าง ๆ ของประเทศจีน ให้มากขึ้นนอกจากนั้น หอการค้าไทย ได้มีการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ ถึงแผนที่จะนำเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของไทย ทั้ง BOI และ EEC เดินทางไป Road show ที่ประเทศจีนอีกครั้ง เพื่อตอกย้ำว่าประเทศไทยมีความพร้อมและศักยภาพ และให้ความสำคัญกับประเทศจีนในการส่งเสริมการลงทุนระหว่างกันให้เพิ่มมากขึ้น ในโอกาสนี้ ผมในนามประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ขอขอบคุณและต้อนรับเพื่อนๆ นักธุรกิจชาวจีนจากทั่วโลก ในการเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
โดยเฉพาะหากท่านได้มีโอกาสได้ชิมทุเรียนของไทย ซึ่งยังอยู่ในฤดูกาลที่ออกผลผลิตในขณะนี้ ก็เชื่อว่าจะสร้างความประทับใจให้กับท่านได้มากยิ่งขึ้น ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเดินทางมาประเทศไทยของทุกท่านจะได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น และเชื่อมั่นว่าสายสัมพันธ์ของพี่น้องไทย – จีน ที่หยั่งรากลึกในทุกมิติ จะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือ และการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยและจีนอย่างยั่งยืนสืบต่อไป