สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 27 มี.ค. 66
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง
ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณ จ.สตูล (13 มม.) จ.พระนครศรีอยุธยา (6 มม.) และ จ.ยะลา (6 มม.)
น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 28,963 ล้าน ลบ.ม. (50%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 22,733 ล้าน ลบ.ม. (48%)
คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
กอนช. ติดตามระดับน้ำแม่น้ำโขง ซึ่งอาจเกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
บริเวณสถานีวัดน้ำเชียงแสน จ.เชียงราย คาดว่าระดับน้ำลดลงทันทีประมาณ 0.6 – 0.8 ม. ในช่วงวันที่ 27 – 28 มี.ค. 66
บริเวณสถานีวัดน้ำเชียงคาน จ.เลย คาดว่าระดับน้ำลดลงประมาณ 0.55 – 0.75 ม. ในช่วงวันที่ 28 – 29 มี.ค. 66
บริเวณสถานีวัดน้ำหนองคาย จ.หนองคาย ถึง สถานีโขงเจียม จ.อุบลราชธานี คาดว่าระดับน้ำลดลงประมาณ 0.55 – 0.75 ม.ในช่วงวันที่ 30 มี.ค. – 2 เม.ย. 66
สทนช. ประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน
ด้วยพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ได้กำหนดให้ สทนช.เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดทำผังน้ำ และรายการประกอบผังน้ำ โดยเสนอ กนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทำผังเมือง จะนำข้อมูลไปประกอบการจัดทำผังเมือง ตาม พรบ. การผังเมือง ต่อไป
วันนี้ (27 มี.ค. 66) สทนช. จึงได้กำหนดจัดการประชุมผังน้ำ ครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการจัดทำผังน้ำ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดน่านเป็นประธานในการประชุม และนายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นผู้แทน สทนช. ทั้งนี้ การประชุมฯ ครั้งนี้ สทนช. มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอร่างผังน้ำลุ่มน้ำน่านที่ดำเนินการปรับปรุงจากข้อเสนอแนะครั้งที่ 2 เมื่อเดือน ต.ค. 65 ที่ผ่านมา ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบ ร่วมกันพิจารณา และรับคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อใช้ในการปรับปรุงร่างผังน้ำให้เกิดความสมบูรณ์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำ โดยทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทในการจัดทำผังน้ำ ทราบขอบเขตผังน้ำ เส้นทางน้ำ และพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมในระดับต่าง ๆ ตลอดจนรับทราบข้อเสนอแนะในการใช้ประโยชน์ที่ดินที่อยู่ในระบบเส้นทางน้ำที่ไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนหรือกีดขวางการไหลของน้ำอันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง – น้ำท่วม และใช้เป็นฐานข้อมูลกลางสำหรับประกอบการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในระดับลุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 27 มี.ค. 2566 ดังนี้
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา จัดกำลังพลชุดปฏิบัติงานช่าง ชุดช่างพัฒนา ปฏิบัติงานตามแผนงาน/โครงการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 งานขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ให้สามารถใช้น้ำ เพื่ออุปโภค บริโภค บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ โดยมีผู้รับประโยชน์ จำนวน 204 ครัวเรือน ประชากร 403 คน ณ บ้านนาคำ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร
2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 27 – 29 มี.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทย และทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยจะเริ่มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน ส่วนภาคอื่นๆจะได้รับผลกระทบในระยะถัดไป
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 28,963 ล้าน ลบ.ม. (50%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 22,735 ล้าน ลบ.ม. (48%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,094 ล้าน ลบ.ม. (61%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,134 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 8,544 ล้าน ลบ.ม. (47%)
4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 22,637 ล้าน ลบ.ม. (48%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 15,686 ล้าน ลบ.ม. (72%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 6,502
ล้าน ลบ.ม. (76%)
5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดกิจกรรม “เยาวชนพลังร่วมและแนวร่วมบริหารจัดการน้ำ” หรือค่ายออนไลน์ ได้ Kick off ในวันน้ำโลก 22 มี.ค. 2566 ร่วมกับ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย The Children and Youth Council of Thailand โดยมีเยาวชนจากทุกภาคของประเทศเข้าร่วมประมาณ 250 คน ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ และ Facebook Live ของ สทนช. โดยมีนักวิชาการของ สทนช. และภาคีเครือข่ายร่วมสนับสนุนเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาโมเดลและขับเคลื่อนการพัฒนาน้ำดื่มน้ำใช้ที่ได้มาตรฐาน และความร่วมมือใช้น้ำอย่างประหยัดโดยเยาวชน